หลังจากที่คณะเยาวชนจากกองทัพภาคที่ 2 กว่า 40 คน ได้เดินทางทัศนศึกษาพื้นที่ภาคใต้จากจังหวัดที่เปรียบจะเหนือสุด (ระนอง) สู่จังหวัดใต้สุด (ยะลา) ด้วยความอุ่นใจ ปลอดภัยและสนุกสนาน พร้อมทั้งเก็บเอาความรู้ ประสบการณ์ ความประทับใจ ความภาคภูมิใจ ที่หลายๆ สถานที่ได้ส่งต่อ ผ่านอัตลักษณ์ วัฒนธรรมของท้องที่ท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วยความจริงใจ สื่อสารไปยังน้อง ๆ เยาวชนกองทัพภาคที่ 2 นำกลับไปเล่าเรื่องบอกต่อ ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่ใช่แค่ 40 คนที่ได้เห็นความงดงามเหล่านั้น แต่จะเป็นอีกนับร้อยคน พันคน ที่จะได้รู้ถึงความสวยงามของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อได้มาสัมผัสด้วยตัวเอง
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 ใจกลางเมืองเบตง จังหวัดยะลา พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ให้การต้อนรับ และพาคณะน้องๆเยาวชนจากกองทัพภาคที่ 2 เที่ยวชมบรรยากาศยามค่ำคืนของเมืองเบตง ที่เรียกได้ว่าเป็นเสน่ห์อันงดงาม ที่ไม่ว่านักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเมื่อได้มาเยือนแล้ว จะเก็บเอาความประทับใจ และภาพความทรงจำ แห่งเมืองนี้ไปบอกกล่าวเล่าสิบ จนทำให้คนที่มาเยือนเบตง จะต้องกลับมาเยือนเมืองนี้อีกครั้ง ด้วยเสน่ห์ที่ดึงดูดและความเป็นธรรมชาติที่ยังคงความงดงามพร้อมกับน้ำใจมิตรไมตรีของคนในพื้นที่ ที่สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวมานักต่อนัก
“เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน” คือคำขวัญของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่บ่งบอกถึงความงดงามของอำเภอใต้สุดของประเทศไทย ไม่เพียงแต่แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามที่สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่นี่มีเสน่ห์อยู่ที่ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผู้คนที่อาศัยอยู่มีทั้งนับถือศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม อีกทั้งมีคนเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนลงตัว ทำให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม เกิดเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่สวยงาม เปรียบเหมือนดอกไม้หลากสีที่มีความสวยงามเช่นเดียวกับคำขวัญของเมืองเบตงนั่นเอง
ซึ่งนอกจากการต้อนรับที่อบอุ่นของลุงต้น ที่น้อง ๆ เรียกแล้ว ลุงต้นยังได้ให้ความรู้ ประสบการณ์ต่าง ๆ แนวคิด และมุมมองจากประสบการณ์การทำงานกว่า 24 ปีในพื้นที่ภาคใต้ ให้น้อง ๆ ได้เข้าใจในหลากหลายมุมมองอีกด้วย ซึ่งใครจะไปรู้ว่าจริง ๆ แล้ว ลุงต้นก็เป็นเด็กอีสาน ที่ทั้งครอบครัวอาศัยอยู่ชัยภูมิ และนครราชสีมา การต้อนรับวันนี้จึงเต็มเปี่ยมไปด้วยความอบอุ่นและความประทับใจ พร้อมของที่ระลึก ที่บ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ได้เป็นอย่างดี ให้น้องๆกลับ ติดตัวไปไม่มีวันลืม ซึ่งแน่นอนว่าก่อนหน้านี้เยาวชนจากกองทัพภาคที่ 4 เองก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากกองทัพภาคที่ 2 เช่นกัน ประสบการณ์ครั้งนี้ ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ภาษา แต่ไม่ว่าอย่างไร จะพื้นที่ไหน เหนือ อีสาน กลาง ใต้ เราก็คือคนไทยเหมือนกัน “ขอให้น้องๆทุกคนภูมิใจที่ได้เกิดเป็นคนไทย มีความเอกราชเป็นชาติไทย ซึ่งมีความสวยงาม ทั้งประเพณี วัฒนธรรม อันหลากหลาย ขอให้สืบทอดและปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ที่เป็นความภาคภูมิใจของเราสืบไป” ลุงต้นกล่าวทิ้งท้าย
ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า