ศูนย์สันติวิธีเดินหน้าสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนพื้นที่ จชต. มุ่งเน้นการพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่ สู่ความสงบสุขอย่างยั่งยืน

341

          พลตรี วรเดช  เดชรักษา ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี เปิดเผยผลการปฏิบัติงาน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในห้วงที่ผ่านมา ที่สำคัญจากกรณีการจัดกิจกรรมของกลุ่มเยาวชนที่เรียกตัวเองว่า ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ จัดทำประชามติที่เกี่ยวข้องกับเอกราชปาตานี ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่ง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า โดยศูนย์สันติวิธีจัดกำลังพลลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มุ่งเน้นสร้างความเข้าใจกับมวลชนทุกกลุ่ม ผ่านการจัดกิจกรรม และการพบปะพูดคุยสร้างความเข้าใจใน 4 ประเด็น คือ

  1. ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญมาตราหนึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวจะแบ่งแยกไม่ได้และการจัดกิจกรรมดังกล่าวผิดต่อหลักกฎหมาย
  2. เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่ได้ต้องการแยกตัวเป็นเอกราช
  3. มีขบวนการสนับสนุนการจัดกิจกรรมอยู่เบื้องหลังนำโดยกลุ่มนักการเมืองบางพรรคซึ่งใช้นักศึกษาออกหน้าและปัดความรับผิดชอบ
  4. กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ผิดหลักวิชาการคณะครูอาจารย์ที่เข้าร่วมต้องมีส่วนรับผิดชอบ

          โดยตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาศูนย์สันติวิธีได้ดำเนินการสร้างความเข้าใจกับเครือข่ายมวลชนผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่สำคัญประกอบด้วย กิจกรรมเครือข่ายผู้เห็นต่าง ผ่านโครงการสานใจสู่สันติ “สัญจร” จำนวน 4 ครั้ง ในพื้นที่ ตำบลธารคีรี, ตำบลเขาแดง อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา, ตำบลตะบิ้ง อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี และ ตำบลผดุงมาตร อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส รวมทั้งเข้าพบปะ พูดคุยผู้เข้าร่วมโครงการสานใจสู่สันติ จำนวน 6 ราย ณ ชุดคุ้มครองตำบลลิปะสะโง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

          สำหรับมิติสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ผ่านการประชุมสภาประชาธิปไตยตำบล (วาระพิเศษ) จำนวน 3 ครั้งในพื้นที่ ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี,  ตำบลโกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และตำบลรือเสาะออก อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส

          รวมถึงกิจกรรมเวทีสาธารณะ จำนวน 9 ครั้ง ในพื้นที่ ตำบลศรีสาคร อำเภอศรีสาคร, ตำบลปูโย๊ะ อำเภอสุไหงโกลก ,ตำบลกะเยาะมาตี อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส , อำเภอปานาเระ จังหวัดปัตตานี , อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา และ ตำบลจะแหน ,ตำบลทุ่งพอ อำเภอสะบ้าย้อย, ตำบลสะท้อน อำเภอนาทวี , ตำบลลางา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา รวมทั้งกิจกรรม “สื่อสร้างสรรค์เล่าเรื่องดีๆ ที่บ้านฉัน” ณ ห้องประชุมช้างเผือก อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และ หอประชุมอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี

          ส่วนกิจกรรมเครือข่ายกลุ่มสตรี ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมขับเคลื่อนงานเครือข่ายสมาคมสร้างสรรค์เยาวชนชายแดนใต้ (กลุ่มสานฝัน) ในกิจกรรม”เสริมสร้างสุขภาวะแม่รุ่นใหม่ ยุค Thailand 4.0″ ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลพ่อมิ่ง อำเภอปะนาเระ  จังหวัดปัตตานี และจัดกิจกรรมเวทีบทบาทสตรีในพื้นที่ ตำบลท่าธง  อำเภอรามัน จังหวัดยะลา

          อีกทั้งได้จัดกิจกรรมเครือข่ายผู้บริหารสถานศึกษา โดยพบปะผู้สอนศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ณ ห้องประชุมสำนักงานการศึกษาเอกชน อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส  พร้อมทั้งกิจกรรมเครือข่ายนักเรียนนักศึกษา กลุ่มน้องๆ เยาวชน ผ่านกิจกรรมโครงการเติมฝันสานอนาคตกิจกรรมแนะแนวการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนดารุลฮิกมะห์ ตำบลกาลิซา อำเภอระแงะ  จังหวัดนราธิวาส  และกิจกรรม “บูงอหลากสีเยาวชนคนดีใกล้ชิดศาสนา” จำนวน 2 ครั้ง โดยมีเยาวชนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 จากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในพื้นที่ จังหวัดปัตตานี เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 226 คน

          ตลอดจนกิจกรรมเครือข่ายผู้นำศาสนา ผ่านกิจกรรมการขับเคลื่อนมัสยิดชุมชนสานใจสู่สันติ ณ มัสยิดอัตตะรีห์ หมู่ที่ 3  ตำบลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา  จังหวัดยะลา และกิจกรรมเวทีสาธารณะขับเคลื่อนกำปงตักวาสู่สภาประชาธิปไตยตำบล ตำบลท่าน้ำ ณ ที่ทำการกำนัน หมู่ที่ 3 ตำบลท่าน้ำ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี

          นอกจากนี้ศูนย์สันติวิธีได้จัดทำสื่อข้อมูลในสื่อออนไลน์ เพื่อสร้างความเข้าใจใน 4 ประเด็นดังกล่าว  จำนวน 25 บทความ รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรา 112, 113 และ 116 โดยเฉพาะประเด็นในมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ “ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวจะแบ่งแยกไม่ได้” โดยสอดแทรกความรู้ในทุกกิจกรรมที่ศูนย์สันติวิธีเข้าดำเนินการ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อสร้างความเข้าใจกับมวลชนทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า