แม่ทัพภาคที่ 4 พบปะกลุ่มสตรีและเยาวชน ชายแดนใต้ พร้อมส่งเสริมยกระดับกลุ่มสตรี ให้มีรายได้ที่มั่นคง และกลุ่มเยาวชนต้องห่างไกลยาเสพติด เสริมภูมิคุ้มกันด้วยกีฬา

156

          วันนี้ 25 พฤศจิกายน 2565 ณ สโมสรนายทหารสัญญาบัตร กองพลทหารราบที่ 15 ค่ายสุริโยทัย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี  พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 พบปะมวลชนกลุ่มสตรี และกลุ่มเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจหลักของแม่ทัพภาคที่ 4 ที่อยากเห็นกลุ่มสตรีและเยาวชนเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามแนวคิดที่ว่า “กลุ่มสตรีต้องมีรายได้อย่างยั่งยืน โดยเสริมสร้างกลุ่มอาชีพที่มั่นคง และกลุ่มเยาวชนต้องห่างไกลจากยาเสพติด โดยส่งเสริมด้านการกีฬา” ซึ่งมีมวลชนกลุ่มสตรีและเยาวชน จากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อเปิดโอกาสให้มวลชนกลุ่มสตรีและกลุ่มเยาวชนได้รับทราบนโยบายการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และร่วมรับฟัง แสดงความคิดเห็นเสนอแนะ ปัญหาข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาด้วยกันในทุกมิติเพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งภายในงานมีการจัดแสดงบูธนิทรรศการของกลุ่มสตรีและกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ เพื่อสื่อให้เห็นถึงขีดความสามารถ ศักยภาพของกลุ่มสตรีและกลุ่มเยาวชนที่ได้มีบทบาทในด้านต่างๆ พร้อมเข้ามามี ส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

          พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวว่า “กลุ่มสตรีและเยาวชน มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีกลุ่มสตรีหลากหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มล้วนมีขีดความสามารถที่แตกต่างกันไป อยากให้กลุ่มเหล่านี้ได้แสดงศักยภาพผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อให้คนต่างพื้นที่ได้รับทราบและเห็นถึงขีดความสามารถ ซึ่งที่ผ่านมาได้เห็นผลงานผลิตภัณฑ์ต่างๆของกลุ่มสตรีที่ผลิตออกมา วันนี้ผลิตภัณฑ์ต่างๆเหล่านั้นได้พัฒนาต่อยอด ยกระดับไปอีกขั้น สวยงาม หลากหลาย สามารถสร้างรายได้เป็นอย่างดี ในอดีตกลุ่มสตรีไม่ค่อยมีโอกาส ได้พัฒนาศักยภาพเท่าที่ควร แต่ปัจจุบันนี้กลุ่มสตรีได้รับโอกาสและได้พัฒนาศักยภาพของตนเองในหลายมิติ ทั้งนี้กลุ่มสตรีและเด็กในพื้นที่ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เทียบเท่ากับบุรุษ อย่างเช่น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้หญิง สตรีที่เข้ามาทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่  ซึ่งมีความสามารถไม่น้อยหน้าสุภาพบุรุษ เป็นนิมิตหมายใหม่น่าภาคภูมิใจต่อพื้นที่ อีกทั้งสตรีมีความอ่อนไหวในการทำงาน ในการปกครอง และไม่ใช่แค่บทบาทผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างเดียว สุภาพสตรีในปัจจุบันเข้ามามีบทบาทในด้านอื่นๆ ในองค์กรต่างๆ อีกด้วย

           ทั้งนี้ วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เรามาร่วมกันหยุดความรุนแรงในทุกพื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เราต้องร่วมมือร่วมใจในการร่วมกันรณรงค์ยุติความรุนแรง เจ้าหน้าที่รัฐทำฝ่ายเดียวไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนจากทุกกลุ่มทุกองค์กร ฉะนั้นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต้องหมดไปและต้องไม่เกิดขึ้นอีก ขอฝากให้ทุกส่วนช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบสิ่งผิดปกติไม่เรียบร้อยให้แจ้งมายังเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผมจะเข้าไปดูแล เพื่อให้พื้นที่และทุกคนได้เกิดความสงบสุขอย่างแท้จริง

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า