คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์ซักถามฯ เพื่อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

381

          วันที่ 8 มิถุนายน 2566 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมพรานไพร หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พลตำรวจตรี ปิยะวัฒน์  เฉลิมศรี รอง ผู้บัญชาการกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้แทนผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ให้การต้อนรับ นางสาว สุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะฯ ในโอกาสมาตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัย ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 เพื่อรับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงในการดำเนินงาน รวมถึงปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องด้วยที่ผ่านมามีประเด็นการร้องเรียน การเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน จำเป็นต้องติดตาม และมารับทราบข้อมูลให้รอบด้าน โดยเฉพาะขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมผู้ต้องสงสัย ทุกขั้นตอนต้องโปร่งใสเป็นธรรม ตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความหวาดระแวงระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชน ซึ่งการปฎิบัติงานทั้งหมดของเจ้าหน้าที่ ต้องอยู่ภายใต้กรอบหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด  ทั้งนี้มาตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานของศูนย์ซักถามฯ  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำเนินการเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการติดตามตรวจสอบ รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

          ภายหลังการร่วมประชุมฯ รับฟังการบรรยายสรุป กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะฯ ได้ไปตรวจเยี่ยม ศูนย์ซักถามหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 และหน่วยซักถามหน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายในค่ายอิงยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพื่อตรวจสอบการดำเนินการ กระบวนการขั้นตอนการทำงานของศูนย์ซักถามฯ ให้เป็นไปตามระเบียบ กองทัพภาคที่ 4 / กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ว่าด้วยวิธีปฏิบัติในการตรวจค้น และการกักตัวบุคคลที่ต้องสงสัยตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และระเบียบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ว่าด้วยวิธิการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตั้งแต่ขั้นตอนการรับตัวผู้ต้องสงสัย, การบันทึกประวัติ การตรวจร่างกาย การจัดสิ่งอำนวยความสะดวก และการรักษาพยาบาล ซึ่งการดำเนินการทุกขั้นตอนอยู่ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน แม้ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ในสถานะผู้ต้องสงสัย ทุกขั้นตอนต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้

          ปัจจุบันศูนย์ซักถามฯ ทุกแห่งในพื้นที่ ได้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อติดตามดูแลผู้ต้องสงสัย และบันทึกการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องสงสัยในทุกขั้นตอนหากมีการกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน สามารถตรวจสอบได้จากกล้องวงจรปิดที่ติดอยู่ทุกจุดของศูนย์ซักถามฯ ปัจจุบันการดำเนินงานของศูนย์ซักถามฯ ทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ให้ความสำคัญเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพร้อมให้ความร่วมมือกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และทุกหน่วยงาน หากมีประเด็นการร้องเรียน หรือเกิดการร้องเรียนกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน สามารถเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ทุกกรณี

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า