มทภ.4 ประชุม ติดตาม การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เน้นชุมชน ประชาชน มีส่วนร่วม ป้องกัน สกัดกั้น สิ่งเสพติด สร้าง พื้นที่สีขาวนำสันติสุขสู่ จชต.

90

         วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2567) เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พลโท ศานติ  ศกุนตนาค  แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ปส.จชต.) เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2567 เพื่อขับเคลื่อนงานการแก้ไขปัญหายาเสพติด ติดตาม และรับทราบผลการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยมีผู้แทนสำนักอำนวยการ, หัวหน้าส่วนราชการหน่วยขึ้นตรง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า, ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา, ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี รายงานสถานการณ์ภาพรวมและการปฏิบัติภารกิจงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

          โอกาสนี้ พลโท ศานติ  ศกุนตนาค ได้กล่าวขอบคุณกำลังพล คณะกรรมการทุกส่วน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่บูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ หากสิ่งไหนในปีที่ผ่านมา พวกเราทำดีอยู่แล้ว ก็ยังคงสานต่อให้ดียิ่งขึ้น แต่หากมีสิ่งไหนที่ผิดพลาดไปบ้าง ขอให้นำมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเป็นรูปธรรม และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมย้ำว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติดจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชน ขอให้ทุกหน่วยประสานการทำงานอย่างเป็นระบบ ควบคู่กับการสร้างความเข้าใจ ตระหนักรู้ถึงพิษภัยจากยาเสพติดแก่ประชาชน กำชับยึดถือตามนโยบายการปฎิบัติงานด้านยาเสพติด 4 ด้าน ได้แก่ การป้องกันและปราบปราม, การป้องกันและแก้ไขปัญหา, การบำบัดรักษาและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับการบำบัดรักษามาแล้ว ควบคู่กับการติดตามการปฎิบัติงานด้านยาเสพติดประจำสัปดาห์ ส่วนการขับเคลื่อนบำบัดฟื้นฟูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (CBTx) ของแต่ละจังหวัดนั้นให้ชุมชนมามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน โดยการขยายจากตำบลนำร่องแต่ละอำเภอให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกด้าน ครบทุกตำบล ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา ทุกอำเภอมีหนึ่งตำบล ฉะนั้นควรขยายให้ครบทุกอำเภอ ทุกจังหวัด ในพื้นที่รับผิดชอบ ภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.ปส.จชต.) ซึ่งแต่ละจังหวัดต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ส่วนการส่งตัวผู้ป่วยจากยาเสพติดเข้าบำบัดรักษาตามกระบวนการของกระทรวงสาธารณสุข ขอให้สาธารณสุขจังหวัดชี้แจง สร้างความเข้าใจกับโรงพยาบาลชุมชน  เพื่อการประสานงานจังหวัดและให้การสนับสนุน รับ-ส่ง ผู้ป่วยยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาที่สูงขึ้น โดยให้ สาธารณสุขจังหวัดกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างดีที่สุดและเต็มกำลังความสามารถ  ยืนยันศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมให้การสนับสนุนทุกกิจกรรมของทุกหน่วยงาน และสามารถประสานงานหรือช่วยเหลือ บูรณาการทำงานร่วมกันอย่างสุดกำลังความสามารถ

         ทั้งนี้ การประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นครั้งแรกในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนการทำงานให้มีความต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ในการบำบัดยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา เนื่องจากปัจจุบันยาเสพติดได้มีการระบาดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องบูรณาการทำงานร่วมกันให้สามารถนำไปสู่การจับกุม เพื่อสกัดกั้นคุมเข้มสิ่งผิดกฎหมาย และการลำเลียงยาเสพติดอย่างเคร่งครัด เพื่อพี่น้องประชาชนมีความมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร่วมกันสร้างพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่สีขาว ปราศจาก สิ่งเสพติดทุกชนิด

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า