ร่วมฟื้นฟูสังคมพหุวัฒนธรรม ผ่านกระบวนการร่างฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน) ฟังเสียงจากชุมชนสะท้อนสู่หน่วยงานรัฐ  หวังสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ จชต. ให้เข้มแข็ง โดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน

218

          เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.30 น. ที่ โรงแรม บีพี สมิหลา บีช อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ส่วนพัฒนายุทธศาสตร์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จัดกิจกรรมสัมมนาทบทวนติดตาม และประเมินผลการบูรณาการแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (ฟื้นฟูสังคมพหุวัฒนธรรม) ปีงบประมาณ 2566 ครั้งที่ 2 นำโดย พันเอกชาติชาย เกื้อกิจ ผู้อำนวยการส่วนพัฒนายุทธศาสตร์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมคณะทำงาน ร่วมขับเคลื่อนงานสังคมพหุวัฒนธรรม โดยใช้เครื่องมือแบบการวิเคราะห์ฯ S-SA Model (Blueprint of Peace) โดยใช้(ธรรมนูญหมู่บ้าน) (ฮูกุมปากัต) ของตำบลตะลุกาโปร์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เป็นตำบลต้นแบบในการสร้างความเข้าใจ และมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูสังคมพหุวัฒนธรรม และขยายเครือข่ายสังคมพหุวัฒนธรรมชุมชนที่เปราะบางในพื้นที่จังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่นำร่องในการดำเนินการขับเคลื่อน ได้รับเกียรติจากนายเสรี ศรีหะไตร ที่ปรึกษา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นประธานเปิดการสัมมนาฯ และบรรยายแนวทาง การขับเคลื่อน ฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน) โดยมีผู้แทนจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ, ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหน้า, สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม, สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, กรมประชาสัมพันธ์, กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ,สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้, ศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้, ปลัดจังหวัด, หัวหน้าสำนักงานจังหวัดยะลา, จังหวัดปัตตานี,จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสงขลา, ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอทั้ง 4 จังหวัด จำนวน 37 อำเภอ รวมทั้งหน่วยเฉพาะกิจยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส, สงขลา, หน่วยเฉพาะกิจสันติสุข ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ 9 อำเภอในพื้นที่จังหวัดปัตตานี  อ.เมือง, ยะหริ่ง, ยะรัง, ปะนาเระ, สายบุรี, แม่ลาน, หนองจิก, ไม้แก่น,และ อ.ทุ่งยางแดง พร้อมด้วย ปลัด อบต. กำนันผู้ใหญ่บ้าน บัณฑิตอาสา ผู้นำศาสนา บุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วมแลกเปลี่ยนและตกผลึกเนื้อหาข้อมูลการบูรณาการแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (ฟื้นฟูสังคมพหุวัฒนธรรม) ในรูปแบบการรับฟังเสียงความต้องการของประชาชนโดยมีหน่วยงานรัฐทุกภาคส่วน ทุกกระทรวงทบวงกรม ในพื้นที่ร่วมกันขับเคลื่อนโดยมีเป้าหมายเดียวกันคือร่วมกันฟื้นฟูสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หวังให้เกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน

          สำหรับรูปแบบการสัมมนาฟื้นฟูสังคมวัฒนธรรมครั้งนี้ได้มีการแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้ง 9 ตำบล จาก 6 อำเภอนำร่องของจังหวัดปัตตานี เพื่อร่วมกันจัดทำฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี) โดยมีผู้นำศาสนามาร่วมวินิจฉัยและมีมติร่วมกันในการร่าง ฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี) ประกอบด้วย 1 เป็นคนดี 2 มีปัญญา  3 รายได้สมดุล 4 สุขภาพแข็งแรง 5 สิ่งแวดล้อมสมบูรณ์ 6 สังคมอบอุ่น 7 หลุดพ้นอาชญากรรม 8 กองทุนพึ่งตนเอง 9 พลัง 3 ก. เข้มแข็ง (ก 1 คณะกรรมการหมู่บ้าน (ก 2 คณะกรรมการเขตบ้าน/คุ้มบ้าน (ก 3 คณะกรรมการเยาวชน (กม.น้อย)เพื่อเป็นเครื่องมือให้คณะกรรมการหมู่บ้านใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนชีวิตหมู่บ้านเพื่อเป็นพันธสัญญา ให้ทุกคนร่วมกันถือปฏิบัติเป็นวิถีชีวิต โดยมีคณะกรรมการหมู่บ้านหรือผู้แทนจากชุมชนร่วมเสนอ โดยใช้เครื่องมือ S-SA Model  Prototype  เป็นกระบวนการวิเคราะห์ภาพกระจกเงาสะท้อนความเข้มแข็งเพื่อจัดทำแบบวิเคราะห์ปัจจัยความสำคัญความสำเร็จความเป็นไปได้ของกิจกรรมโครงการ จากนั้นนำประเด็นกิจกรรมโครงการที่ชุมชนหมู่บ้านเสนอ มาจัดทำแผนชีวิตหมู่บ้าน มาวิเคราะห์ภาพความจริงตามบริบทชุมชนหมู่บ้านเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จหรือสู่การปฏิบัติจริง โดยจะมีหน่วยสนับสนุนซึ่งมาจากส่วนต่างๆ ร่วมจัดทำแผนชีวิตหมู่บ้านภายใต้กรอบฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี )ในการจัดทำเพื่อให้บรรลุความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

          สำหรับการร่าง ฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน)ได้เชิญ ผู้ทรงคุณวุฒิผู้รู้ทางศาสนา (อูลามะอฺ) ในพื้นที่ ร่วมกันลงความเห็นชอบและวินิจฉัย เพื่อให้ธรรมนูญหมู่บ้านที่ได้ร่วมกันร่างสอดคล้อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยไม่ขัดต่อหลักศาสนา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการขับเคลื่อนฟื้นฟูสังคมพหุวัฒนธรรมให้เข้มแข็ง โดยมี ดร.วิสุทธิ์ บิลละเต๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรี ประจำภาคใต้ และคณะผู้ทรงคุณวุฒิผู้รู้ทางศาสนาได้ร่วมพบปะผู้เข้าร่วมสัมมนาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อ ฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน) ที่ชุมชนได้ร่วมกันขับเคลื่อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีผลอย่างยิ่งต่อการช่วยส่งเสริมพัฒนาและสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

          นาย สารี  คาเดร์ลอดิง ตัวแทนประชาชนจากบ้านท่าแรด หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ลาน อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี กล่าวว่ารู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่เพราะสิ่งที่เคยมีในอดีต  ณ ปัจจุบันนี้เริ่มเลือนหาย เช่น การอยู่ร่วมกันของคนรุ่นใหม่การไปมาหาสู่ของชาวไทยพุทธชาวไทยมุสลิมในพื้นที่เริ่มห่างหาย หวังอยากให้กลับมามีบรรยากาศเช่นในอดีตที่มีการไปมาหาสู่ซึ่งกันและกันโดยเฉพาะในสถานศึกษาที่มีลูกหลานเยาวชนเรียนร่วมกันซึ่งถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมร่วมกันตั้งแต่เยาว์วัย ซึ่งในอดีตไทยพุทธไทยมุสลิมสามารถอยู่ร่วมกันได้และปัจจุบันนี้ก็อยากให้เป็นเช่นนั้น จึงได้ ถือโอกาสครั้งนี้เสนอโครงการเพื่อสร้างพื้นที่ให้ไทยพุทธไทยมุสลิมสามารถทำกิจกรรมร่วมกันหวังให้ชุมชนเป็นสังคมเพื่อวัฒนธรรมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้าb