ศูนย์ประสานการแพทย์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 12.1 จังหวัดยะลา รณรงค์การเฝ้าระวังการแพร่เชื้อไข้มาลาเรียในพื้นที่ไข้สูง ด้วยมาตรการการป้องกันไข้มาลาเรียแนวใหม่

176

          วันนี้ (21 มีนาคม 2566) เวลา 08.30 น. ที่มัสยิดดารุลฮูดา ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา พลตรี โชคชัย  ขวัญพิชิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวชิราวุธ / แพทย์ใหญ่กองทัพภาคที่ 4 ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรมรณรงค์การเฝ้าระวังการแพร่เชื้อไข้มาลาเรียในพื้นที่ไข้สูง (มาตรการการป้องกันไข้มาลาเรียแนวใหม่จังหวัดยะลา) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 12.1 จังหวัดยะลา และศูนย์ประสานการแพทย์จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี กำลังพลจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 47 , สาธารณสุขอำเภอยะหา , สมาชิกอาสารักษาดินแดนในพื้นที่ ผู้นำชุมชน ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วม

          พลตรี โชคชัย  ขวัญพิชิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวชิราวุธ / แพทย์ใหญ่กองทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นของมาลาเรียเกิดจากความเดือดร้อนของประชาชนในปี 2559 ท่านแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้นได้แจ้งข่าวว่ามีโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีผู้ป่วยมาลาเรียจำนวนมาก จึงฝากให้ศูนย์ประสานการแพทย์จังหวัดชายแดนภาคใต้ลงไปตรวจสอบ ซึ่งในครั้งนั้นก็ได้ไปร่วมกันกับสาธารณสุข จึงทำให้คิดว่าการแก้ไขปัญหาโรคมาลาเรียนั้น ทุกฝ่ายจะต้องเข้าใจอย่างแท้จริงเพราะโรคมาลาเรียมีมากว่า 100 ปี และจังหวัดยะลาก็มีสถิติติดอันดับสูงในประเทศไทย ทั้งเจ้าหน้าที่ทหารและประชาชนในพื้นที่ จึงเกิดกลไกที่สำคัญโดยให้มีอาสาสมัครขึ้นมาเรียกชื่อว่า “หมอมาลาเรีย” โดยมีการตั้งเป้าหมายว่าจะลดจำนวนผู้ป่วยโรคมาเลเรียลงให้ได้ โดยเริ่มต้นจากการฝึกเจาะเลือดตรวจ และหากพบผู้ป่วยโรคมาเลเรียก็นำส่งรักษาที่ถูกต้องได้อย่างทันท่วงที หลังจากที่โรคเริ่มเหลือน้อยลง เราก็เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้หายขาด โดยมีการติดตามการกินยาต่อเนื่องเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเป็นแหล่งแพร่เชื้อต่อไป เมื่อได้ดำเนินการแล้ว ปรากฏว่าผู้ป่วยลดลงเป็นจำนวนมาก จากสถิติผู้ป่วยหลักพันเหลือเพียงแค่หลักสิบในปีปัจจุบัน ปัจจุบันเราได้มีการขยายวิธีการ โดยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ เพื่อไม่ให้ยุงมาไข่ในบริเวณบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน ตลอดจนการควบคุมโรค โดยการให้ประชาชนนำมุ้งจากที่บ้านมาชุบสารเคมีป้องกันยุง ซึ่งถือว่าโครงการนี้ได้รับผลตอบรับจากพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก อย่างที่เห็นกิจกรรมวันนี้ ก็เกิดจากความร้องขอของพี่น้องประชาชนให้ภาครัฐเข้ามาช่วยในการจัดการกับโรคมาลาเรียให้มีความต่อเนื่อง”

          สำหรับกิจกรรมการรณรงค์การเฝ้าระวังการแพร่เชื้อไข้มาลาเรียในพื้นที่ไข้สูง (มาตรการการป้องกันไข้มาลาเรียแนวใหม่จังหวัดยะลา) ที่จัดขึ้นในวันนี้มีขั้นตอนการดำเนินการจำนวน 4 ฐาน ประกอบด้วย ฐานเจาะเลือดตรวจคัดกรองประจำจุด , ฐานชุบมุ้งป้องกันยุง , ฐานเดินเจาะเลือดตรวจคัดกรองถึงประตูบ้าน และฐานทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน นับเป็นการบูรณการการทำงานของภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาความ เดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า