สืบสานประเพณีท้องถิ่น “อาซูรอสัมพันธ์” เมืองปัตตานี ดึงคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม หวังลดความรุนแรงในพื้นที่ สร้างสันติสุขอย่างยั่งยืน

171

          เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 ที่ ลานบริเวณมัสยิดกรือเซะ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นายบุญพาศ  รักนุ้ย รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น “กิจกรรมอาซูรอสัมพันธ์ อำเภอเมืองปัตตานี ประจำปี 2565” โดยมี นายเศวต  เพชรนุ้ย นายอำเภอเมืองปัตตานี ผู้แทนส่วนราชการ ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วม

           นายบุญพาศ  รักนุ้ย องเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นการหนุนเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ถือเป็นสิ่งที่ดีที่ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอเมืองปัตตานี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดกิจกรรม อีกทั้งยังเป็นการสร้างสัมพันธภาพและเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ร่วมงาน ตลอดจนชาวบ้านทั้งในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงด้วย จนทำให้เกิดความสัมพันธ์ฉันท์พี่ฉันท์น้อง เกิดความไว้วางใจต่อกัน ความสามัคคีด้วยกันเอง ซึ่งการกวนอาซูรอนับว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจและความสามัคคี ลดความเหลื่อมล้ำ ความแตกต่างของคนในพื้นที่ได้

          สำหรับกิจกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น กิจกรรมอาซูรอสัมพันธ์ อำเภอเมืองปัตตานี ประจำปี 2565″ เป็นความร่วมมือขององค์การบริหารส่วนตำบลตันหยงโล ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอเมืองปัตตานี จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมสนับสนุนและอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นปลูกจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นเกิดความตระหนัก และเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูและสืบสานภูมิปัญญาในท้องถิ่นและคุณค่าความหลากหลายทางวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วม ตลอดจนสร้างความปรองดองสมานฉันท์ นำไปสู่การปฏิเสธความรุนแรง และสร้างความสันติสุขอย่างยั่งยืน

           สำหรับการกวนข้าวอาซูรอ (ขนมอาซูรอ) ถือเป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำว่า อาซูรอ เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม การรวมกัน คือการนำสิ่งของที่รับประทานได้หลายสิ่งหลายอย่างมากวนรวมกัน มีทั้งชนิดคาวและหวาน การกวนข้าวอาซูรอจะใช้คนในหมู่บ้านมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อความสามัคคีและสร้างความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อันมีผลต่อการอยู่ร่วมกันของสังคมอย่างมีความสุข ก่อนจะแจกจ่ายให้รับประทานกัน ซึ่งเจ้าภาพจะเชิญบุคคลที่นับถือของชุมชนขึ้นมากล่าวขอพร (ดุอา) ก่อนจึงจะแจกให้คนทั่วไปรับประทานกันต่อไป

ศูนย์ประชาสัมพันธ์   กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า