3 ฝ่าย แถลงสรุปผลการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ประจำเดือนกรกฎาคม 2565

510

          วันนี้ (10 สิงหาคม 2565) ณ กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พันเอก เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมด้วย พันตำรวจเอก อนุพงษ์ ทัศนา ผู้ช่วยโฆษกกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ นางสุนิสา รามแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กรมประชาสัมพันธ์) ร่วมแถลงข่าวชี้แจงการปฏิบัติงานในห้วงเดือนกรกฎาคม 2565

          พันเอก เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ปฏิบัติภารกิจต่างๆ ในการดูแลพื้นที่ และช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และเสริมสร้างความเข้าใจ โดยเฉพาะกรณีคนร้ายได้ใช้อาวุธปืนสงครามยิงประชาชนหาของป่าเสียชีวิต 2 ราย ในพื้นที่ ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เหตุเกิดเมื่อ 3 สิงหาคม 2565 และต่อมาเมื่อ 5 สิงหาคม 2565 ได้มีเพจเฟสบุ๊คที่อ้างว่าเป็นเพจของกลุ่มขบวนการ BRN ได้ออกมาโพสต์ข้อความ “ขอความร่วมมือหน่วยกำลังภาคประชาชน งดเว้นล่าสัตว์หรือลาดตระเวนในพื้นที่ชาวมลายูมุสลิม เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ” และต่อมาภายหลังได้มีการนำเสนอข่าวในรายการ “ข่าวข้น คนข่าว”ของสถานีโทรทัศน์เดอะเนชั่น และมีการแชร์ประเด็นดังกล่าวออกไปอย่างกว้างขวาง เพื่อไม่ให้ประเด็นดังกล่าวถูกสื่อสารออกไปอย่างไร้ขีดจำกัดที่อาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกและวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ในวงกว้าง โดยพื้นที่ป่าไม่มีใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ “จึงย่อมเป็นสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยทุกเชื้อชาติ ศาสนาสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ตราบใดที่ไม่ได้ละเมิดต่อหลักกฎหมายที่ได้กำหนดไว้” สำหรับกลุ่มคนไทยพุทธที่เข้าไปล่าสัตว์หาของป่า ถือเป็นวิถีชีวิตปกติของชาวบ้านที่มีมาอย่างยาวนานและไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้งกับคนมุสลิมในพื้นที่และ “ไม่ได้เป็นกองกำลังภาคประชาชน” ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ทั้งนี้จะใช้เวทีสภาสันติสุขตำบลจัดประชุมหารือ เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสม ปลอดภัย สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนและเป็นไปตามกฏระเบียบที่ได้กำหนดไว้ เพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในลักษณะดังกล่าวในอนาคตต่อไป จึงใคร่ขอประชาชนใช้วิจารณญาณ ในการบริโภคข้อมูลข่าวจากเพจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชนควรใช้ดุลยพินิจ และตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านบนพื้นฐานจรรยาบรรณของสื่อ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือผู้ไม่หวังดีและซ้ำเติมสถานการณ์ให้รุนแรงยิ่งขึ้น

          ด้านการสร้างความเข้าใจและส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม ในห้วงเดือนที่ผ่านมา พลตรี อุทิศ อนันตนานนท์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ลงพื้นที่ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และมอบถุงยังชีพให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ จ.ยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส และสงขลา รวม 5 ครั้ง อีกทั้งได้ดำเนินโครงการสร้างบ้าน และส่งมอบบ้านให้กับประชาชนผู้ยากไร้ในพื้นที่ จชต. ในห้วงตั้งแต่ 1 ต.ค. 65 ถึงปัจจุบัน ไปแล้ว จำนวน 27 หลัง เป็นการสร้างขวัญกำลังใจ และเพิ่มแรงผลักดันให้ประชาชนเหล่านั้น มีพลังใจในการประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดีช่วยเหลือสังคมต่อไป

          สำหรับอาการบาดเจ็บของ พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 พร้อมคณะ รวม 7 นาย ที่ประสบอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ลงจอดฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ในพื้นที่ ต.วังใหญ่ อ.เทพา จ.สงขลา ปัจจุบัน จำนวน 4 นาย ได้กลับไปพักฟื้นเพื่อรักษาตัวต่อที่บ้านพักแล้ว ได้แก่ 1. ร้อยโท ณัช โลหากาศ นักบินที่ 2 2. จ่าสิบเอก ธีรพงษ์ คูหาแก้ว ช่างประจำอากาศยาน 3. ร้อยเอก วิสารท์ ชูสังกิจ นายทหารคนสนิท 4. พันตรี ประสาร ด้วงชาญ นักบินที่ 1 และยังกำลังพลที่ยังคงพักรักษาตัว ณ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้แก่ 1. พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 2. สิบเอก พีรวิชญ์ โอสถเจริญ ช่างภาพ 3. จ่าสิบเอก พิษณุ พันเต ช่างประจำอากาศยาน ทั้งนี้ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้กล่าวแสดงความขอบคุณมายังทุกท่าน ทุกภาคส่วน ที่แสดงความห่วงใย และให้กำลังใจ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และคณะ ซึ่งปัจจุบัน แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 อยู่ในขั้นตอนการทำกายภาพบำบัด เพื่อให้สามารถกลับมาเดินได้อย่างคล่องตัว เพื่อให้สามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้ในเร็ววัน

          ท้ายที่สุดนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ยังคงยึดมั่นเจตนารมย์ในการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี ภายใต้หลักกฎหมายที่เสมอภาค เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ รวมทั้งจะยังคงเดินหน้าสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกื้อกูล และหนุนเสริมกระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืนในพื้นที่ จชต. ต่อไป อีกทั้งยังคงเดินหน้าปฏิบัติงานตามนโยบายเร่งด่วนของแม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ งานการควบคุมพื้นที่และบังคับใช้กฎหมาย การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง การสร้างความเข้าใจ และงานบูรณาการด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนา

          ด้านกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ พันตำรวจเอก อนุพงษ์ ทัศนา ผู้ช่วยโฆษกกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า สำหรับเดือนกรกฎาคม 2565 เกิดเหตุรวม 29 เหตุ แยกเป็น เหตุก่อความรุนแรง 5 เหตุ เหตุอาชญากรรมทั่วไป 16 เหตุ เหตุก่อกวน 4 เหตุ และเหตุปะทะ 4 เหตุ มีผู้เสียชีวิต 8 ราย แยกเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 นาย ผู้ก่อเหตุรุนแรง 7 คน และ มีเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บ 2 ราย มีการออกหมายจับ ป.วิอาญาคดีความมั่นคง จำนวน 2 หมาย จับกุม 1 หมาย จับตัวยังไม่ได้ 1 หมาย จำหน่ายหมายจับคดีค้างเก่า 12 หมาย รวมจำหน่ายหมาย 13 หมายและออกหมายจับ ตาม พ.ร.ก.ฯ จำนวน 10 หมาย จับกุม 5 หมาย จับตัวยังไม่ได้ 5 หมาย มีผลคำพิพากษาคดีความมั่นคงของศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ และศาลฎีการวม 4 คดี จำเลย 5 คน แยกเป็น จำคุกตลอดชีวิต 1 คน จำคุกไม่เกิน 50 ปี 1 คน และยกฟ้อง 3 คน

          ทั้งนี้ มีความคืบหน้าคดีสำคัญหลายคดี ได้แก่ 1. จากกรณีเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุรุนแรง ที่เข้ามาหลบซ่อนพักพิง และวางแผนตระเตรียมก่อเหตุในพื้นที่ บริเวณบ้านเช่าไม่มีเลขที่ หมู่ที่ 3 ตำบลสะเตงนอก อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เมื่อ 26 กรกฎาคม 2565 มีความคืบหน้าของคดีนี้จากผลการตรวจสอบที่มา และตรวจพิสูจน์อาวุธปืนของกลาง ที่ตรวจยึดได้จากผู้ตายทั้งสอง พบว่าปืนที่ตรวจยึด เป็นอาวุธปืนที่ถูกประทุษร้าย มาจากคดี ความมั่นคงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จำนวน 3 กระบอก พบประวัติการก่อเหตุพบว่าทำให้ชาวบ้าน ผู้บริสุทธิ์ทั้งไทยพุทธ-ไทยมุสลิม เสียชีวิตและบาดเจ็บอีกหลายราย

          สำหรับเดือนกรกฎาคม 2565 มีคำพิพากษาคดีความมั่นคงที่น่าสนใจ 2 คดี ได้แก่ คดีที่ 1. คดีลอบวางระเบิดตู้เอทีเอ็ม จำนวน 10 จุด พื้นที่จังหวัดปัตตานีเมื่อ 20 พฤษภาคม 2561 และเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ศาลจังหวัดปัตตานี พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต 1 ราย และคดีที่ 2. เหตุแขวนป้ายผ้า และพ่นสีเปรย์ วางวัตถุต้องสงสัยก่อเหตุพื้นที่ อำเภอกาบัง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2563 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ศาลจังหวัดยะลา พิพากษาจำคุก 3 ปี รอการลงโทษ 2 ปี 1 ราย

          ด้านนางสุนิสา รามแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กรมประชาสัมพันธ์) กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานในห้วงที่ผ่านมา ศอ.บต. ได้นำแนวทางของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้หันมาปลูกกาแฟ เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะสามารถ สร้างอาชีพ สร้างรายได้เป็นอย่างดี ศอ.บต. ในฐานะหน่วยงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จึงได้จับมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ และฝ่ายธุรกิจคาเฟ่อเมซอน บริษัท ปตท.น้ำมัน และการค้าปลีกจำกัด (มหาชน) ขับเคลื่อนและพัฒนากาแฟโรบัสต้า ให้มีรสชาติเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น อีกทั้งยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพาะพันธุ์เนื้อเยื่อกาแฟ เพื่อเป็นการอนุรักษ์และขยายพันธุ์กาแฟ ไว้ พร้อมยกระดับกาแฟชายแดนใต้สู่สากล และในห้วงที่ผ่านมา ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ (ด้านการมีส่วนร่วม) ได้เดินทางลงพื้นที่ ตำบลเขาแดง อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ในห้วงที่ผ่านมา พร้อมเผยว่า ภาครัฐได้ให้การสนับสนุนการขยายสายพันธุ์ “โรบัสต้ายอดดำ” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นของตำบลเขาแดง และมีความเป็นไปได้ว่าจะผลักดันให้วามารถขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Identification : GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ในปีหน้าและจะยกระดับสู่สากลต่อไป

           ด้านการส่งเสริมการสร้างสังคมคนดี และการอยู่ร่วมกัน ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต.ศอ.บต.ในฐานะหน่วยงานด้านการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการเสนอกรอบแนวทางภายใต้โครงการส่งเสริมการสร้างสังคมคนดีและการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล และขณะนี้การสนับสนุนจากรัฐบาลได้กระจายให้กับโรงเรียนตาดีกาในพื้นที่ จำนวน 1,864 แห่ง ในพื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เป็นเงินทั้งสิ้น 75,247,200 บาท ดำเนินการผ่านโครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สนับสนุนค่าอาหารกลางวันให้กับนักเรียนตาดีกา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการสนับสนุนงบประมาณให้กับสภาสันติสุขตำบลในการขับเคลื่อน เพื่อตอบสนองตอบความต้องการของประชาชนในพื้นที่

          และในส่วนของการสนับสนุนโรงเรียนสอนพุทธศาสนิกชนของศาสนาพุทธนั้น พบว่ามีจำนวนตัวเลขเด็กนักเรียนไม่ชัดเจนตามที่ตั้งไว้ ศอ.บต. จึงได้ประชุมหารือร่วมกับวัฒนธรรมจังหวัด และสำนักงานพระพุทธศาสนา เพื่อร่วมจัดกิจกรรมอบรมค่ายพุทธบุตร ซึ่งจะมีการอบรมการให้ความรู้เกี่ยวข้องกับหลักคำสอนศาสนา ฯลฯ โดยจะมีกำหนดดำเนินกิจกรรมในห้วงระหว่างวันที่ 26 – 28 สิงหาคม 2565 นี้ ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมภูเขาหลง จังหวัดสงขลา

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า