ศอ.บต. จับมือภาคีเครือข่าย 10 องค์กร ขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล เชื่อมโยงอุตสาหกรรมไก่แบบครบวงจร

257

          วันนี้ (4 สิงหาคม 2565) เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานสภาเกษตรแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมจังหวัดปัตตานี (Agritech and Innovation Center : AIC) บริษัท เอ.ซี.เอฟ.แอนด์ คอนเทนเนอร์ โฟรเซน ฟาร์ม จำกัด และบริษัท ตะนาวศรีไทย จํากัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือ (MOU) เพื่อขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยแนวทางการส่งเสริมเกษตรฐานรากเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไก่แบบครบวงจร โดยได้รับเกียรติจาก พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมด้วย นายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายศรัณย์พงศ์ ฟุ้งเกียรติ รองเลขาธิการสภาเกษตรแห่งชาติ สำนักงานสภาเกษตรแห่งชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.อิสมาแอ อาลี ประธานฝ่ายกิจการฮาลาล สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นายดือราแม มะมิงจิ ประธานสมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้  รองศาสตราจารย์ ดร. กรรณิการ์ สหกะโร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมจังหวัดปัตตานี ผู้ช่วยศาสตร์จารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานรินทร์ รองศาสตร์จารย์ ชาญชัย พานทองวิริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายชาลี มัดสและ ประธานกรรมการบริษัท เอ.ซี.เอฟ. แอนด์ คอนเทนเนอร์ โฟรเซน ฟาร์ม จำกัด และนายกณพ สูจิฆระ ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท ตะนาวศรีไทย จํากัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงฯ และนายภานิต ภัทรสาริน ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายจัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมน้อมเกล้า ชั้น 1 ศอ.บต.

           พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศูนย์อำนวยบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้มีประชากรกว่าร้อยละ 80 เป็นชาวไทยมุสลิม ที่มีวิถีการดำเนินชีวิตตามแนวทางภายใต้บทบัญญัติและ “ฮาลาล” ที่กำหนดไว้ใน “อัลกุรอ่าน” ซึ่งเป็นพระมหาคำภีร์สูงสุดทางศาสนา เพื่อให้มุสลิมทุกคนมีความศรัทธาและถือปฏิบัติ รวมถึงให้ความสำคัญอย่างสูงต่อการคัดเลือกสรรอาหาร ที่เป็นไปตามหลักการบัญญัติ “อาหารอาลาล” ซึ่งการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะเศรษฐกิจฮาลาล ได้รับความร่วมมือกับประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ ด้านการลงทุน ด้านการค้า ด้านการท่องเที่ยว และด้านสุขภาพ ทำให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจก้าวหน้าอย่างเป็นลำดับ ซึ่งทางประเทศซาอุดีอาระเบีย มีความต้องการผลผลิต คืออาหารฮาลาล โดยเฉพาะไก่ ที่เป็นไก่ขนาดเล็ก เพราะเป็นความต้องการของพี่น้องมุสลิมในประเทศซาอุดีอาระเบีย  ทั้งนี้การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวของการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วันนี้ที่ทุกฝ่ายต่างมีความพร้อมอย่างสูงสุดในการที่จะพัฒนาพื้นที่ให้เป็น “ครัวอาหารฮาลาลโลก” และการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโดยมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวม 10 หน่วยงาน จะเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนการสนับสนุนและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาล (HALAL HUB) ผ่านการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยแนวทางการส่งเสริมเกษตรกรฐานรากเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไก่แบบครบวงจร

           ทั้งนี้กิจกรรมลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือ (MOU) เพื่อขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยแนวทางการส่งเสริมเกษตรฐานรากเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไก่แบบครบวงจร เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตอาหารฮาลาลที่มีคุณภาพสูง ผ่าน “อุตสาหกรรมไก่แบบครบวงจร” สามารถเชื่อมโยงการผลิตตั้งแต่เกษตรฐานราก-กลุ่มเกษตรกร ไปสู่อุตสาหกรรมครัวเรือน อุตสาหกรรมแปรรูปขนาดใหญ่ที่ใช้ไก่เป็นส่วนประกอบสำคัญ เพื่อสามารถบรรลุหลักการศาสนาอิสลามสำหรับพี่น้องมุสลิมทุกคนและผู้ที่รักสุขภาพเพื่อให้ได้อาหารที่ดีและเป็นประโยชน์ เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจเชื่อมโยงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชนอย่างเป็นระบบและครบวงจร ทั้งนี้ บนพื้นฐานการนำองค์ความรู้และวิชาการมาขยายผล ประยุกต์ พัฒนา และต่อยอดเป็นอาชีพของประชาชน และแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ ผ่าน “อาหารฮาลาล” ที่เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้และประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย “ครัวอาหารโลก” และ “ครัวอาหารฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้”

ศูนย์ประชาสัมพันธ์  กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า