ขันน็อตแนวชายแดน ลาดตระเวนทางน้ำ ตรวจเข้มชายแดน ไทย- มาเลเซีย สกัดกั้นโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียและแอฟริกาใต้ จากประเทศเพื่อนบ้าน

743

        วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.30 น. พลโทเกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เดินทางลงพื้นที่เน้นย้ำนโยบายและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ให้ทุกเหล่าทัพ จับตาคุมเข้มเฝ้าระวังชายแดนทั้งทางบกและทางน้ำอย่างเข้มข้น ด้วยการประสานการทำงานกับ ฝ่ายปกครองในพื้นที่ เพื่อป้องการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยเฉพาะชายแดนติดเมียนมาและมาเลเซีย ที่จำเป็นต้องเฝ้าระวังคัดกรองและควบคุมโรคอย่างเข้มข้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงรุนแรง บวกกับเชื้อสายพันธุ์อินเดีย และแอฟริกาใต้ ที่อาจเข้ามาแพร่ระบาดวงกว้างในประเทศไทย

        โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ได้เดินทางไปยังด่านตรวจคนเข้าเมืองตากใบ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส พูดคุยหารือกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างความร่วมมือยกระดับคุมเข้มในมาตรการสกัดกั้นและควบคุมพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่ อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงโก-ลก และ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส โดยให้หน่วยบูรณาการคนและเครื่องมือร่วมกับทุกภาคส่วน พร้อมเสริมกำลังกองร้อยทหารพรานเชิงรุก ชุดป้องกันชายแดน ชุดเฝ้าตรวจชายแดน ชุดลาดตระเวนทางน้ำ เพื่อควบคุมบุคคลลักลอบผ่านเข้า-ออกตามแนวชายแดน  ปิดทุกรอยรั่วช่องทางธรรมชาติ ก่อนร่วมลาดตระเวนทางน้ำ ลำน้ำสุไหงโกลก พร้อมกำชับเพิ่มมาตรการ เข้มงวดในการดูแลรักษาความปลอดภัย ตามลำน้ำตลอดแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ตรวจสอบช่องทางข้ามธรรมชาติของแม่น้ำสุไหงโก-ลก ที่กั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยด้าน จังหวัดนราธิวาส กับ รัฐกลันตันของประเทศมาเลเซีย ซึ่งถือว่าเป็นจุดสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะมีผู้ลักลอบเข้าประเทศ และเสี่ยงต่อการนำเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียและแอฟริกาใต้ ข้ามฝั่งเข้ามาสู่ประเทศไทยได้

        ต่อมาแม่ทัพภาคที่ 4 เดินทางไปยัง ด่านชายแดนอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เพื่อเยี่ยมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เน้นย้ำนโยบายสำคัญ ยกระดับคุมเข้มพื้นที่ตลอดแนวชายแดนทั้ง 3 อำเภอ คืออำเภอสะเดา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย เขตติดต่อ ชายแดนไทยมาเลเซีย โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าเขา ซึ่งอาจถูกใช้เป็นช่องทางให้ลักลอบเข้ามาทั้งแรงงานไทย และแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองโดยไม่ผ่านขั้นตอนกระบวนการคัดกรองโควิด19 และเป็นกลุ่มเสี่ยงที่นำพาโควิด19 สายพันธุ์อินเดียและแอฟริกาใต้ เข้ามาแพร่ระบาดในพื้นที่ชายแดน ทั้งนี้ประเทศมาเลเซียกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ซึ่งพบมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลฮารีรายอซึ่งอาจจะมีผู้ลักลอบข้ามแดนเข้ามาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลดังกล่าวกับเครือญาติ หลุดรอดมาได้ ก่อนมอบขวัญและกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน และมอบสิ่งของอุปกรณ์ป้องกันตนเองเพื่อใช้ในการปฏิบัติภารกิจ ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 ตามแนวชายแดน ต่อไป

ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า