พบปะ เยี่ยมเยียน ให้กำลังใจ มอบความห่วงใยให้สมาชิกกลุ่มเสื้อเขียวส่งเสริมการดำเนินงานตามแนวทางศาสตร์พระราชา

178

          เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2566 เวลา 09.40 น. ที่ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดยะลา ตำบลวังพญา อำเภอรามัน จังหวัดยะลา พลตรี เฉลิมพร  ขำเขียว ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 / ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ลงพื้นที่พบปะ เยี่ยมเยียน ให้กำลังใจ และมอบความห่วงใยแก่สมาชิกองค์กรภาคประชาชนเพื่อสันติและเศรษฐกิจพอเพียง (กลุ่มเสื้อเขียว) ของจังหวัดยะลา พร้อมทั้งรับทราบปัญหา อุปสรรค ในการดำเนินงาน รวมถึงแนวทางการปฏิบัติ ตลอดจนเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานตามแนวทางศาสตร์พระราชา ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด งานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรเครือข่ายในการขับเคลื่อนกิจกรรมด้านต่าง ๆ รวมถึงส่งเสริมการประกอบอาชีพให้แก่เยาวชนผู้ยากไร้ในพื้นที่ ให้ได้มีโอกาสเรียนรู้ ศึกษา ปฎิบัติงานจริง  ณ  แปลงเกษตร ศูนย์การเรียนรู้ ศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดยะลา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้ให้แก่เยาวชนในช่วงปิดภาคเรียน และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครอง โดยค่าตอบแทนที่ได้ เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ในการซื้อเครื่องแต่งกายชุดรายอ ในช่วงเทศกาล ฮารีรายอ อีกด้วย

          ในการนี้ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และคณะ ได้เยี่ยมชมแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ เยี่ยมชมการทำปศุสัตว์ ตลอดจนได้มอบความห่วงใย และมอบอินทผลัม พร้อมเครื่องบริโภค มามอบให้แก่สมาชิกองค์กรภาคประชาชนเพื่อสันติและเศรษฐกิจพอเพียงของจังหวัดยะลา สำหรับไว้รับประทานในห้วงการถือศีลอด ของเดือนรอมฎอน ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1444 เป็นการแสดงออกถึงความยินดี ความจริงใจ เนื่องในโอกาสเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ ซึ่งเป็นเดือนแห่งการถือศีลอด และปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด โดยมี พันเอก พีรพงศ์  วัลลภาทิตย์  ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 152 / หัวหน้าคณะทำงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คณะที่ 1, พันเอก พีระยุทธ  ชุมโคตร เสนาธิการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, นายชานนท์  เจะหะมะ ประธานองค์กรภาคประชาชนเพื่อสันติและเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กลุ่มเสื้อเขียว) และสมาชิก ร่วมให้การต้อนรับ

          พลตรี เฉลิมพร ขำเขียว  ได้เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจ สมาชิกองค์กรภาคประชาชนเพื่อสันติ และเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดยะลา จำนวน 2 ราย ได้แก่ 1. นายมะไซดี ละโฮะยา เป็นผู้ป่วยพิการทางสายตา อาศัยอยู่ที่ หมู่ 1  ตำบลวังพญา อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และ 2. นางเดือนเพ็ญ หนูขาวเป็นผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการ ซึ่งเป็นโรคเส้นเลือดในสมองแตก อาศัยอยู่ที่ หมู่ 6 ตำบลวังพญา อำเภอรามัน จังหวัดยะลา โดยได้พูดคุยสอบถามอาการ สภาพความเป็นอยู่ พร้อมมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบ เข้าสนับสนุนส่งเสริมแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ ของผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ และผู้พิการ ซึ่งต้องตกอยู่ในภาวะลำบาก โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลตัวเมือง ที่ไม่สามารถเดินทางออกมารับความช่วยเหลือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน  จึงได้ลงพื้นที่ ไปมอบความห่วงใย  มอบถุงยังชีพเครื่องอุปโภค บริโภค และมอบอินทผลัม เพื่อไว้รับประทานในห้วงการถือศีลอด ของเดือนรอมฎอน ตลอดจนเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ พร้อมทั้งเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่อไป

          จากนั้น ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในฐานะ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 เดินทางต่อไปยัง ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เพื่อมอบแพะพันธุ์พระราชทาน จากโครงการทหารพันธุ์ดี กรมทหารราบที่ 152 จำนวน 3 คู่ 6 ตัว ซึ่งเป็นแพะสายพันธุ์ผสม ระหว่าง แพะสายพันธุ์แบล็คเบงกอล และ แพะสายพันธุ์พื้นเมือง ให้แก่ นายชานนท์  เจะหะมะ ประธานองค์กรภาคประชาชนเพื่อสันติและเศรษฐกิจพอเพียง จชต. (กลุ่มเสื้อเขียว) เพื่อนำไปต่อยอด และขยายพันธุ์ การเลี้ยงปศุสัตว์ ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดยะลา ตำบลวังพญา อำเภอรามัน จังหวัดยะลา เพื่อทำเป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้  แหล่งสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้แก่เยาวชนพี่น้องประชาชนที่สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ต่อไป

          ทั้งนี้ พลตรี เฉลิมพร  ขำเขียว กล่าวว่า องค์กรภาคประชาชนเพื่อสันติ และเศรษฐกิจพอเพียง (กลุ่มเสื้อเขียว) เป็นแบบอย่างที่ดีขององค์กรภาคประชาชน ที่ได้มุ่งเน้น ยืนหยัด น้อมนำเอายุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนองค์กร ก่อให้เกิดเป็นประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนสามารถพัฒนา ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ และงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อสังคม  เป็นกระบวนการสร้างความรัก ความร่วมมือ และความสามัคคี ที่สามารถยึดเหนี่ยวจิตใจ ของการอยู่ร่วมกัน ในการสร้างสังคมให้เกิดความผาสุกได้ และเป็นพลเมืองในบริบทของสังคมพหุวัฒนธรรม กระตุ้นให้เกิดกลไก การจัดการ ชุมชน ตามธรรมชาติ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ศักยภาพผู้นํา และประชาชนให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ทรัพยากร ภูมิปัญญา และวิถีชุมชน รวมถึงการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สู่แนวคิดความ เป็น “พลเมืองไทย ในบริบทสังคมพหุวัฒนธรรม” น้อมนําศาสตร์พระราชาและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจัง จนก่อให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า