พบปะคณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) พร้อมรับข้อเสนอและตอบข้อซักถาม ก่อนนำเข้าสู่โต๊ะพูดคุยในระดับต่อไป

513

          วันที่ 2 มีนาคม 2566 เวลา 16.00 น. ณ โรงแรมซีเอสปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี พลเอก ตันศรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะฯ ร่วมรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมรับข้อเสนอและตอบข้อซักถามจากผู้แทนคณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) ในโอกาสเดินทางมาเยือนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำข้อเสนอเข้าสู่กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งต่อไป โดยมี พลเอก วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ , พลตรี ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า , พลตรี คมกฤช รัตนฉายา รองแม่ทัพน้อยที่ 4 พร้อมด้วยผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ในคณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) เข้าร่วม

          พลเอก ตันศรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า “หลังการพูดคุยที่มาเลเซียได้พูดถึงความคาดหวังในแง่ดีที่จะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ซึ่งมาจากความตั้งใจที่จริงจังของทั้งสองฝ่ายในการที่จะสื่อสารกัน ความเห็นที่แตกต่าง มุมมองที่ไม่เหมือนกัน และการยอมรับความเห็นในเรื่องที่แตกต่างกันเป็นปรัชญาที่พวกเราต้องยึดมั่นชื่นชม ผมเห็นทั้งสองฝ่ายต้องการที่จะนั่งลงเพื่อพูดคุยกัน และนั่นคือความหวังว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาและได้ข้อยุติร่วมกัน ไม่ว่าข้อสรุปรายละเอียดสุดท้ายในเรื่อง JCPP จะเป็นอย่างไร และเมื่อได้ข้อสรุปแล้วเราสามารถมาปรึกษาหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และจบลงด้วยฉันทมติทางการเมือง ผมอยากเห็นการปรึกษาหารือกันในส่วนของรัฐบาลของทั้งสองฝ่าย และประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นคนมลายูปัตตานี คนพุทธ คนจีน และทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องมีส่วนร่วมกันในการผลักดันขับเคลื่อน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะพูดเล่าให้ฟังในเรื่องที่อยู่ภายในจิตใจ และเรื่องเหล่านี้ควรต้องได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังจากทั้งสองฝ่าย เรื่องไหนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลก็ควรได้รับการพิจารณาจากฝ่ายรัฐ อะไรที่เกี่ยวกับเรื่องสาธารณะก็เป็นเรื่องที่ประชาสังคมต้องเข้ามาดู เราอยากเห็นถึงการเอาใจใส่ในเรื่องที่ถูกนำเสนอขึ้นมา นายกรัฐมนตรีมาเลเซียท่านได้พูดไว้ว่า ความรุนแรงไม่ใช่หนทางในการแก้ไขปัญหาขัดแย้ง ไม่มีใครได้ประโยชน์จากความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งผมคิดว่าทุกฝ่ายต่างเข้าใจเรื่องนี้ดี และนี่ทำให้ผมมองในแง่ดีว่าจะมีการปฎิบัติตามคำชี้แนะของผู้นำ ซึ่งตอนนี้ก็มีท่าทีที่ค่อนข้างเป็นไปในเชิงบวกจากผู้นำทางขบวนการ BRN”

          สำหรับการเดินทางมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้ สืบเนื่องจาก นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้เห็นชอบให้แต่งตั้ง พลเอก ตันศรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบิดิน อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดของมาเลเซีย เป็นผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้คนใหม่ โดยในการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2566 คณะพูดคุยฯ และกลุ่ม BRN มีข้อตกลงร่วมกันจัดทำ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” หรือ Joint Comprehensive Plan towards Peace (JCPP) เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนการพูดคุย โดยจะใช้เวลาทางเทคนิคเป็นระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม – มิถุนายน 2566 นี้ หลังจากนั้นจะมีการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้คณะใหญ่ และเพื่อให้การพูดคุยสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงได้เข้าพบปะเพื่อรับฟังข้อเสนอจากคณะประสานงานระดับพื้นที่ ซึ่งเปรียบเสมือนโซ่ข้อกลางระหว่างภาครัฐกับประชาชน ก่อนจะนำข้อเสนอต่างๆ เข้าสู่โต๊ะพูดคุยในระดับต่อไป

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า