แม่ทัพภาคที่ 4 ร่วมเวทีพูดคุย ให้ความรู้นักศึกษาเพื่อสานต่อนโยบาย เป็นแนวทางอันจะนำประโยชน์มาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดสันติสุข ในหัวข้อ “นวัตกรรมภาครัฐ กับการจัดการภาวะวิกฤตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”

127

          วันนี้ 27 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.00 น. ที่ ห้องประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 พร้อมด้วย 3 ส่วนหน่วยงานภาครัฐ ทหาร ตำรวจ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมการสัมมนา ในหัวข้อเรื่องปัญหาและการบริหารจัดการพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะครูอาจารย์ ได้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม และเป็นแนวทางในการส่งเสริมการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

          ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่แก้ไขปัญหาสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์ของการสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนในพื้นที่ได้รับรู้ถึงโอกาสและนวัตกรรมในการบริหารงานของภาครัฐในพื้นที่ได้อย่างชัดเจนขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันระหว่างภาครัฐ และประชาชนพร้อมทั้งเปิดโอกาสไขข้อสงสัยในการปฏิบัติงานของทางภาครัฐที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นแล้วยังให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการเสนอแนะการแก้ไขปัญหาภาวะวิกฤตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกด้วย

          สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ มีการบรรยายพิเศษ และตอบประเด็นคำถาม พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ด้านนโยบายต่าง ๆ ของทางภาครัฐ ซึ่งประกอบไปด้วยท่านแม่ทัพภาคที่ 4 รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ผู้แทนจากเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา กิจกรรมการแสดงของน้อง ๆ นักศึกษา  นิทรรศการแสดงผลงานต่างๆ ที่สะท้อนให้เห็นมุมมอง ความท้าทาย และความหลากหลายในสังคมพหุวัฒนธรรมโดยทั่วไปของพื้นที่ และกิจกรรมอาสาบริจาคโลหิต

          สำหรับเวทีพูดคุยนั้น บทบาทของหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการทหาร การบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ และการพัฒนาพื้นที่อย่างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการพัฒนาและปรับกลยุทธ์เพื่อเท่าทันเหตุการณ์และวิธีการก่อเหตุของกลุ่มผู้ก่อตั้งรุนแรงอยู่ตลอดเวลา เพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ลดน้อยลง เนื่องจากมีการเปิดเวทีสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น และการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เงื่อนไขในพื้นที่แม้จะมีอยู่บ้างแต่ก็เป็นเพียงกลุ่มน้อยเท่านั้น สถิติเหตุการณ์จึงลดลงไปตามลำดับ โดยพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ต้องการอยู่กันอย่างสันติสุข โดยปราศจากเหตุรุนแรงภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่ไม่มีการแตกแยก แต่สิ่งสำคัญหน่วยงานภาครัฐยังคงไม่ตัดปัญหาด้านภัยแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจจะทำให้กระทบกับความมั่นคง เกิดเป็นความขัดแย้งขึ้นได้ โดยเฉพาะ ภัยแทรกซ้อนจากปัญหายาเสพติด ปัญหาการลักลอบหนีเข้าเมือง ปัญหาการลักลอบขนสินค้าหนีภาษี และสินค้าผิดกฎหมายต่างๆ รัฐพยายามปิดรูรั่ว ช่องว่างการก่อเหตุ ซึ่งนั่นจะทำให้การก่อเหตุลดน้อยลง แล้วเข้าไปพัฒนาพื้นที่เสริมสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ที่สำคัญเราต้องแยกให้ออกระหว่างเหตุการณ์ความมั่นคงหรือเหตุการณ์ส่วนตัว และดำเนินการด้านกฎหมายกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงอย่างจริงจัง

          สุดท้ายแล้วนวัตกรรมต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมาให้เข้ากับยุคสมัยย่อมมี 2 ด้านเสมอ เช่นเดียวกับสื่อโซเชียลในปัจจุบันที่อาจจะมีการนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือน เกิดการเข้าใจผิด น้อง ๆ ทุกคนจึงจำเป็นต้องมีสติในการเสพสื่อ เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านั้นเข้ามาครอบงำจิตใจแล้วดำเนินชีวิตที่ผิดพลาด

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า