รองแม่ทัพภาคที่ 4 เปิดการเสวนา พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พร้อมยืนยันกฎหมายนี้อำนวยความสะดวกต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มากยิ่งขึ้น

179

         วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2566) เวลา 08.30 น. ที่ สโมสรนายทหารสัญญาบัตรกองพลทหารราบที่ 15 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พลตรี ปราโมทย์  พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้แทนแม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เปิดการเสวนาสร้างความตระหนักรู้พระราชบัญญัติป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 โดยมี พลเอก กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย พันเอก เฉลิมชัย  สุทธินวล ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวรายงาน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ร่วมรับฟังการเสวนา 200 คน และมีการรับฟังเสวนาระบบทางไกลผ่านจอภาพอีก 150 หน่วยงาน รวม 1,063 คน เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องตามบทบัญญัติ

        พลตรี ปราโมทย์  พรหมอินทร์ กล่าวว่า ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ตื่นตัวกับกฎหมายฉบับนี้ ที่ผ่านมามีการกำหนดให้ สำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จัดกิจกรรมบรรยายให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 22 หน่วยงาน จำนวน 3,883 นาย และร่วมกับ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จัดอบรมออนไลน์ ให้กับเจ้าหน้าที่อีก 151 หน่วยงาน และในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการใช้กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ อยู่แล้ว ซึ่งมีเนื้อหาสอดคล้องกับพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงทำให้เจ้าหน้าที่มีความพร้อมในระดับหนึ่ง และยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้จะอำนวยความสะดวกต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มากยิ่งขึ้น และพี่น้องประชาชนก็จะได้รับความคุ้มครองตามหลักสิทธิและข้อกฎหมายต่าง ๆ อย่างเป็นธรรม

           ด้าน อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า การเข้าร่วมรับฟังการเสวนาครั้งนี้ สามารถรวบรวมข้อมูลจากเวทีเสวนานี้ ไปขับเคลื่อนเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ซึ่งหลังจากนี้จะมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนอีกที ที่สำคัญคือกฎหมายฉบับนี้ จะทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าในเรื่องสิทธิมนุษยชน และเชื่อการปฏิบัติงานที่สุจริต จะเป็นเกราะคุ้มกันให้ได้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี

         สำหรับ พระราชบัญญัติป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ ซึ่งมีการแก้ไขขยายเวลาการบังคับใช้ออกไปเฉพาะมาตราที่ 22 – 25 มาตรา 22 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับ และควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว, มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว, มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว, มาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการจัดหาอุปกรณ์ และฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานก่อน และให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า