เปิดเวทีสัมมนาเครือข่ายสิทธิมนุษยชนพื้นที่ จชต. เพื่อพัฒนาสู่สันติสุขอย่างยั่งยืน

194

          วันนี้ (20 กรกฎาคม 2565) เวลา 10.00 น. พลตรี ปราโมทย์  พรหมอินทร์ รองแม่ทัพน้อยที่ 4/ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้แทนผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ร่วมพิธีเปิดสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติภาคใต้ และเป็นวิทยากรการอภิปราย ในหัวข้อ ”สิทธิมนุษยชน การพัฒนา เพื่อสันติภาพที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งมี นางสาวพรประไพ  กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานเปิดกิจกรรมฯ โดยมี นายแพทย์พิทักษ์พล  บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ} คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ผู้แทนภาคประชาสังคม, ผู้แทนภาคประชาชน, ผู้แทนสถานทูตและองค์การระหว่างประเทศ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม  ณ  สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในพื้นที่ภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

          พลตรี ปราโมทย์  พรหมอินทร์ กล่าวตอนหนึ่งในการสัมมนาเครือข่ายสิทธิมนุษยชนพื้นที่ภาคใต้ ด้านสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นด้านความมั่นคง ว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีประเด็นหลายด้านทั้ง การร้องเรียนละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านความมั่นคง การเสริมสร้างความเข้าใจ และด้านพัฒนาเพื่อความมั่นคง ซึ่ง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการทุกกลไกสำคัญ รวมทั้งพื้นที่ส่วนกลาง อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ซึ่งมุมมองด้านการทำงานสิทธิมนุษยชนถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการแก้ ไขปัญหา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมจะขับเคลื่อนการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาให้เกิดสันติสุขที่ยั่งยืน

          โอกาสนี้ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ยังได้ชี้แจงสร้างความเข้าใจสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงนโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล เหตุผลและความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายด้วยความระมัดระวังและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน หากไม่มีการก่อเหตุสร้างสถานการณ์ของผู้ก่อเหตุรุนแรงพื้นที่ก็จะเกิดสันติสุข ความจำเป็นในการใช้กฎหมายพิเศษก็จะหมดไปพร้อมทั้งยังได้เรียกร้องให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเข้าดูแลและปกป้องคุ้มครองสิทธิให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายโดยไม่เลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ได้รับผลกระทบจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงโดยไม่ทอดทิ้งคนไว้ข้างหลัง

          ทั้งนี้ การเสวนา “สิทธิมนุษยชน การพัฒนา สู่สันติภาพที่ยั่งยืนในชายแดนใต้” ได้พูดคุยเกี่ยวกับประเด็นการดูแลและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งมิติด้านความมั่นคง มิติการเสริมสร้างความเข้าใจ มิติการพัฒนา สิทธิมนุษยชนกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สิทธิด้านการศึกษา และสิทธิการใช้ชีวิตของเด็กและเยาวชนในพื้นที่

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า