โฆษก ศบค.ส่วนหน้า แถลงความคืบหน้าการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้

358

          เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 พลตรี ปราโมทย์  พรหมอินทร์ โฆษกศบค.ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ผลจากการบูรณาการเร่งรัดปฏิบัติการเชิงรุกในทุกมิติภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ส่งผลในสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นโดยลำดับ โดยสามารถฉีดวัคซีนในภาพรวมได้แล้วเฉลี่ยร้อยละ 62.82 เพิ่มขึ้นจากห้วงก่อนจัดตั้ง ศบค.ส่วนหน้า ร้อยละ 17.86 โดยมีผลคืบหน้าดังนี้

  1. ภาพรวมสถานการณ์และแนวโน้ม

          สถานการณ์ล่าสุดในการประชุม ศบค.ส่วนหน้า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 360 ราย, ยอดติดเชื้อสะสม 212,294 ราย, รักษาหายแล้ว 203,938 ราย, ยอดเสียชีวิตสะสม 1,537 ราย เฉลี่ยร้อยละ 0.72 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศร้อยละ 0.26 โดยพบว่าจังหวัดที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อเฉลี่ยมากที่สุดคือ จ.สตูล 1.13 % รองลงมาคือ จ.ปัตตานี 0.97 % และน้อยสุดคือ จ.สงขลา 0.43 % ทั้งนี้พบว่าผู้เสียชีวิตรายใหม่ 5 ราย (12 ธันวาคม 2564) เป็นผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนคิดเป็นร้อยละ 100 สำหรับผลการตรวจหาเชื้อเชิงรุกแบบ ATK ในรอบ 7 วัน พบมีผลเป็นบวกเฉลี่ยร้อยละ 5.28 น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในห้วงเดือนตุลาคมเกือบร้อยละ 20 โดยพบจังหวัดที่มีผลตรวจเป็นบวกมากที่สุดคือ จ.สตูล คิดเป็นร้อยละ 10.77 รองลงมาคือ จ.สงขลา ร้อยละ 6.71 และน้อยสุดคือ จ.นราธิวาส คิดเป็นร้อยละ 1.43 ปัจจุบันมีอัตราการครองเตียงร้อยละ 38.6 น้อยกว่าห้วงสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.7 ทั้งนี้เนื่องจากมียอดรักษาหายมีจำนวนมากกว่าผู้ป่วยรายใหม่ และมีการปรับเพิ่มรูปแบบรักษาแบบศูนย์แยกกักตัวชุมชน (CI) และรักษาตัวที่บ้าน (HI) มากขึ้นคงเหลือเตียงว่าง 8,652 เตียง สามารถรองรับผู้ป่วยอย่างเพียงพอ

  1. ผลคืบหน้าการฉีดวัคซีน

          ปัจจุบันสามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เฉลี่ยร้อยละ 62.82 เพิ่มขึ้นจากห้วงสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.15 เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่าจังหวัดที่มีอัตราการฉีดสูงสุดคือ จ.สงขลา ร้อยละ 74.84, จ.ยะลา ร้อยละ 63.27, จ.สตูล ร้อยละ 58.32, จ.นราธิวาส ร้อยละ 52.36 และ จ.ปัตตานี ร้อยละ 51.63 ตามลำดับ โดยพบว่ายังมีอำเภอที่มีผลการฉีดต่ำกว่าร้อยละ 40 จำนวน 3 อำเภอประกอบด้วย อ.ยะรัง, อ.มายอ และ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ในขณะที่มีผลการฉีดวัคซีนในกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษาเฉลี่ยร้อยละ 88.48 และกลุ่มนักเรียนร้อยละ 71.85

  1. มาตรการรองรับการเตรียมเปิดการเรียนแบบ on site

          ผลจากการประชุมติดตามความคืบหน้าการเปิดการเรียนแบบ on site เมื่อวันที่ 8 – 9 ธันวาคม 2564 พบว่าจำนวนโรงเรียนที่สามารถเปิดการเรียนแบบ on site ได้เพียง 104 โรงเรียน จากทั้งหมด 5,528 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 1.8 ทั้งนี้เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการให้ผ่านเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ กล่าวคือ ต้องมีผลการฉีดวัคซีนในกลุ่มครูและนักเรียนร้อย 85 และชุมชนร้อยละ 70 ซึ่งต้องใช้เวลาอีกนาน และอาจส่งผลกระทบต่อการเตรียมตัวสอบเลื่อนชั้นการศึกษา (ป.6, ม.3, ม.6) โดยล่าสุด ได้นำเสนอปัญหาดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล มติที่ประชุมเห็นชอบให้มีการทะยอยเปิดเรียนในบางพื้นที่ / อำเภอ บางโรงเรียน บางชั้นเรียน สำหรับโรงเรียนในสังกัดสถาบันการศึกษาปอเนอะ ซึ่งมีสถานะเหมือนโรงเรียนประจำ อนุญาตให้เปิดการเรียนได้โดยจะเข้าทำการตรวจหาเชื้อเชิงรุกแบบ ATK และฉีดวัคซีนเชิงรุกในทุกโรงเรียน

  1. ผลจากการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า-2019 ครั้งที่ 20/2564           เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการปรับลดระดับพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) พร้อมทั้งได้กำหนดมาตรการผ่อนคลายการดำเนินกิจการ / กิจกรรมหลายอย่าง แต่ยังไม่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่จังหวัดนำร่อง เพื่อการท่องเที่ยวทั้ง 3 ระยะ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาล ทั้งนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการให้ปรับลดระดับพื้นที่และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในราชอาณาจักรในลักษณะ TEST & GO (ทางบก) โดยให้ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เตรียมความพร้อมรองรับการเปิดประเทศทางบกแบบ TEST & GO ในทุกมิติ เช่น ผู้เดินทางต้องฉีดวัคซีนครบโด้ส, ความพร้อมของด่านตรวจคนเข้าเมือง, การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ใน Day 1 และมีโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการ, มีระบบการติดตามผ่านแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” และมาตรการ Covid Free Setting โดยเฉพาะสถานประกอบการ ต้องมีมาตรฐาน SHA หรือ SHA+ เป็นต้น โดยในขั้นต้น กำหนดให้มีความพร้อมเปิดดำเนินการได้ตั้งแต่ 16 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้จะต้องผ่านความเห็นชอบจากการหารือร่วมกันอย่างเป็นทางการของรัฐบาลไทย และมาเลเซีย (โดยอาจเปิดทั้งหมดหรือเปิดเฉพาะกลุ่ม 5 จชต. กับกลุ่ม 4 รัฐตอนเหนือของมาเลเซียก็ได้)

          ผลจากการบูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพและประสานสอดคล้องในทุกมิติเป็นระยะเวลาเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้สถานการณ์การแพร่ระบาดในภาพรวมมีแนวโน้มลดลง ทุกกลไกแก้ไขปัญหาสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างประสานสอดคล้องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้สามารถทะยอยปรับลดระดับพื้นที่ และกำหนดมาตรการผ่อนคลายให้ประชาชนใช้ชีวิตได้อย่างปกติมากขึ้น รวมทั้งให้มีการทะยอยเปิดการเรียนแบบ on site ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป โดย ศบค.ส่วนหน้า ให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างมาตรการด้านสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจ / สังคม ดังนั้นการผ่อนคลายในแต่ละขั้นจะต้องพิจารณาภายใต้การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ด้วยความรอบคอบอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ตามความพร้อมของสถานการณ์เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาตามมาภายหลังที่อาจทำให้เกิดความยุ่งยากมากยิ่งขึ้น

          สุดท้ายนี้ ในนามของ ศบค.ส่วนหน้า ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วน ทั้งกลไกภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน รวมทั้งสื่อมวลชนทุกแขนงที่ได้เข้ามามีส่วนร่วม และสนับสนุนในการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ 5 จังหวดชายแดนภาคใต้อย่างเต็มที่กำลังความสามารถ ทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี / ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้กรุณาเห็นชอบให้ ศบค.ส่วนหน้า จบภารกิจ และยุติบทบาทการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ 16 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป โดยจะส่งมอบงานอำนวยการขับเคลื่อนที่ ศบค.ส่วนหน้า ดำเนินการมาแล้วให้ ศบค. ดำเนินการตามปกติต่อไป

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า