18 กรกฎาคม วันสถาปนาหน่วยทหารพราน

3545

        ทหารพรานถือว่าเป็นกำลังสำคัญที่ทำหน้าที่ปกป้องประเทศชาติ และถือว่าเป็นผู้ปิดทองหลังพระอย่างแท้จริง!!! พบเจออัตรายใดๆ ก็ไม่หวั่นขอแค่พี่น้องชาวไทยได้อยู่เป็นสุข และนอนหลับสบาย ‪#‎ถึงชีพวายก็ยังคงไว้ซึ้งความเป็นไทย

‪‎รู้จักทหารพรานกันดีแล้วหรือยัง

         การจัดตั้งหน่วยทหารพรานของกองทัพบก มีผลสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2521 จากสถานการณ์การก่อการร้ายภายในประเทศไทยได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น และยังปรากฏแนวโน้มของการใช้กำลังตามแบบของชาติพันธมิตรกลุ่มก่อการร้ายเข้ามาช่วยเหลือทางทหารด้วยการใช้กำลัง เพื่อขยายผลของสงครามประชาชนไปสู่สงครามประชาชาติและสงครามประชาคมในที่สุด จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้กองทัพบกจำเป็นจะต้องจัดตั้งกองกำลังกึ่งทหารในลักษณะของหน่วยอาสาสมัครพิเศษทหารพรานเพื่อเสริมสร้างการต่อสู้แบบเบ็ดเสร็จ มีชื่อรหัสโครงการว่า  โครงการ 513 ซึ่งทางรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นมีมติให้กองทัพบกดำเนินการโครงการ 513 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2521 จึงถือวันดังกล่าว เป็นวันกำเนิด กองกำลังทหารพรานในประเทศไทย

        เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2523 กองทัพภาคที่ 4 ได้ออกคำสั่งที่ 9/2523 เรื่องการจัดตั้งหน่วยทหารพรานในกองทัพภาคที่ 4 เป็นครั้งแรก

        ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2527 ได้จัดตั้งกองกำลังทหารพรานกองทัพภาคที่ 4  มีที่ตั้งอยู่ที่ ค่ายวชิราวุธ ประกอบด้วย 5 กรมทหารพราน ได้แก่ กรมทหารพรานที่ 41, 42, 43, 44 และ 45 รวมจำนวน  36 กองร้อยทหารพราน และ 1 หมวดทหารพรานหญิง

ต่อมาสถานการณ์การสู่รบลดน้อยลง  กองทัพบกจึงได้มีการปรับลดงบประมาณและกำลังพล ดังนี้

–  เมื่อปี  2535 ปิดการบรรจุกรมทหารพรานที่ 44

–  เมื่อปี  2539 ปิดการบรรจุกรมทหารพรานที่ 42

–  ต่อมาเมื่อปี 2547  สถานการณ์การก่อเหตุร้ายรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น กองทัพบกได้อนุมัติให้จัดตั้งหน่วยและเพิ่มเติมกำลังทหารพราน ให้กับกองทัพภาคที่ 4  จำนวน 3 โครงการ ได้แก่

–  โครงการที่ 1 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 จัดตั้ง 2 กรมทหารพรานที่ 42 และ 44

–  โครงการที่ 2 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2550  จัดตั้ง 2 กรมทหารพรานที่ 46 และ 47

–  โครงการที่ 3 เมื่อ 5 สิงหาคม 2551 อนุมัติให้จัดตั้ง 28 กองร้อยทหารพรานเพิ่มเติมให้กับ กองทัพภาคที่ 4 โดยจัดตั้งให้กับกรมทหารพรานที่ 41 ถึง 47 หน่วยละ 4 กองร้อยทหารพราน

        ต่อมาสถานการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่ จชต. ยังคงปรากฏการก่อเหตุของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่อง อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคง และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งการดำเนินการแก้ไขปัญญาฯดังกล่าวจะต้องมีกำลังประจำถิ่นที่เพียงพอในการเกาะติดพื้นที่ และสามารถปฏิบัติการเชิงรุกได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้จะเป็นการปลดเปลื้องภาระของหน่วยกำลังรบจาก ทภ.1 – ทภ.4 บางส่วนที่จะถอนกำลังกลับเพื่อไปปฏิบัติภารกิจหลักด้านการป้องกันประเทศ

กองทัพบกจึงจัดตั้งหน่วยทหารพรานแบ่งการดำเนินการจัดตั้งหน่วยเป็น 2 ระยะ ดังนี้

–  ระยะที่ 1 ตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2554 ถึง เดือน กันยายน 2554

–  ระยะที่ 2 ตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2554 ถึง เดือน มีนาคม 2555

        โดยสรุปแล้ว หน่วยทหารพรานในกองทัพภาคที่ 4 มี จำนวน 9 กองบังคับการกรมทหารพราน คือ กรมทหารพรานที่ 41 – 49  และมีหน่วยทหารพรานจากกองทัพภาคอื่นอีก 3 หน่วย ปัจจุบันหน่วยทหารพรานที่ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ จชต. มีจำนวน 12 กรมทหารพราน 172 กองร้อยทหารพราน และ 9 กองบังคับหมวดทหารพรานหญิง

        การใช้กำลังทหารพรานนั้น กำหนดให้กำลังทหารพรานชาย เป็นกำลังที่มีความชำนาญในพื้นที่  เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้นำชุมชน/หมู่บ้าน เป็นแกนหลักในการเอาชนะหมู่บ้านและตำบลเป้าหมาย ด้วยการทำลายกำลังติดอาวุธ สลายโครงสร้างและแกนนำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง  รวมทั้งปฏิบัติการเชิงรุกตามสถานการณ์ในพื้นที่  ส่วนกำลังทหารพรานหญิง ใช้เป็นกำลังสนับสนุนการป้องกันและแก้ไข การใช้กลุ่มแนวร่วมที่เป็นเด็กและสตรีขัดขวางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ งานมวลชนสัมพันธ์เชิงรุก, การรักษาพยาบาล และการปฏิบัติงานด้านกิจการพลเรือนอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งหน่วยทหารพรานจะ มีการปฏิบัติภารกิจในด้านต่างๆ ดังนี้

        การปฏิบัติงาน ด้านการข่าว ทหารพรานเป็นกำลังที่มีกำลังพลในพื้นที่เป็นจุดแข็งประการหนึ่งของการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และหน่วยงานด้านการข่าว นอกจากนี้ สามารถทำงานในพื้นที่และ พัฒนาจัดระบบโครงสร้างงานข่าวได้อย่างชัดเจนและต่อเนื่อง ทั้งพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ข่าวในสถานการณ์การก่อการร้าย โดยปฏิบัติต่อกลุ่มเป้าหมาย การปฏิบัติการข่าวต่อกลุ่มสภาองค์กรนำ โครงสร้างทางการเมือง และโครงสร้างทางการทหาร เพื่อสามารถพิสูจน์ทราบโครงสร้างการเมืองและการทหารในพื้นที่รับผิดชอบให้มีความชัดเจน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติการทางยุทธการและงานมวลชนต่อไป

        การปฏิบัติงาน ด้านยุทธการ เมื่อทางหน่วยสามารถพิสูจน์ทราบทางการข่าวได้แล้ว ก็นำข้อมูลนั้น มาสู่การปฏิบัติการทางยุทธการ ซึ่งมีการปฏิบัติงานที่สำคัญ ได้แก่

– การปิดล้อมตรวจค้น

– การตั้งจุดตรวจจุดสกัด

– การลาดตระเวนเส้นทาง

– การรักษาความปลอดภัยบุคคลและสถานที่

– การป้องกันและแก้ไข การใช้กลุ่มแนวร่วมที่เป็นเด็กและสตรีขัดขวางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ

– การสนับสนุนการฝึก ให้กับ หน่วยงานต่างๆ

        การปฏิบัติด้าน กิจการพลเรือน เมื่อการข่าวสามารถพิสูจน์ทราบโครงสร้างของสภาองค์กรนำ และโครงสร้างด้านการเมืองแล้ว ทหารพรานสามารถใช้ขีดความสามารถทางด้านการเมืองที่มีอยู่ ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความคิด และความเชื่อของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้สภาองค์กรนำ และโครงสร้างทางการเมืองยุติแนวความคิด และการปฏิบัติในการแบ่งแยกดินแดนส่งผลต่อการแก้ปัญหาในภาพรวม ซึ่งหน่วยทหารพรานจะมีการจัดโครงการต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจ ความเชื่อมั่น และความไว้วางใจในการปฏิบัติภารกิจของหน่วยทหารพรานในพื้นที่ อิทิ เช่น

        จะเห็นได้ว่า การแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น หน่วยทหารพรานจะต้องปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อสามารถใช้คุณลักษณะในการเป็นกำลังประจำถิ่นได้อย่างเต็มขีดความสามารถ ทั้งนี้หน่วยที่รับกำลังทหารพรานไปขึ้นควบคุมทางยุทธการต้องมีความเข้าใจในคุณลักษณะ หลักนิยม และขีดความสามารถของทหารพรานได้เป็นอย่างดี จึงจะสามารถใช้หน่วยทหารพรานในการแก้ปัญหา จชต. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นหลักประกันและสร้างความมั่นใจได้ว่าทหารพรานสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการนำสันติสุขกลับคืนสู่พื้นที่ จชต. และพร้อมปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ วิสัยทัศน์เดียว นั่นคือ คุณธรรม อุดมการณ์ คือหัวใจทหารพรานเพื่อประชาชน

ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า