แม่ทัพภาคที่ 4 นำทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ จชต. เน้นใช้ชุมชนบำบัด ตั้งเป้าขยายผล ครอบคลุม 288 ตำบล

1283

     วันนี้ (6 มกราคม 2564) เวลา 09.45 น. ณ ห้องประชุม 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พลโท เกรียงไกร  ศรีรักษ์ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 / ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้  เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และรับทราบนโยบายแผนการปฏิบัติงานเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมี สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 9, ผู้แทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส และสงขลา, ผู้แทนจากกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

     พลโท เกรียงไกร  ศรีรักษ์ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 / ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า กรอบแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงยึดกรอบในการดำเนินการอย่างเคร่งครัดเข้มงวดเนื่องจากปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่สำคัญเป็นปัญหาที่ประชาชนได้รับความทุกข์ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ยังคงมุ่งมั่นและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะแนวทางการบำบัดฟื้นฟูรักษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยยาเสพติดให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคม โดยจะใช้กระบวนการบำบัดฟื้นฟูโดยใช้ชุมชนมีส่วนร่วมหรือชุมชนบำบัด (CBTx) เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับแคมป์ 35 ในการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด

     ภายหลังการประชุม พลโท เกรียงไกร  ศรีรักษ์ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 / ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สั่งการเรื่องการป้องกันโดยใช้กระบวนการสร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มเยาวชนกลุ่มเสี่ยงโดยใช้เครือข่ายกลุ่มสมาชิกญาลันนันบารูเข้าไปสร้างการรับรู้ให้กับเยาวชนในพื้นที่ ด้านการปราบปรามได้กำหนดแนวทางอย่างเข้มงวด ทั้งผู้ค้ารายย่อย ผู้ค้ารายใหญ่ ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในการปราบปราม เพื่อตัดวงจรระหว่างผู้เสพกับผู้ค้าโดยเจ้าหน้าที่และทุกภาคส่วนต่าง ๆ ได้ดำเนินการติดตามจับกุมอย่างต่อเนื่อง สำหรับการบำบัดจะใช้แนวทางการบำบัด Camp 35 เชื่อมโยงต่อกับกระบวนการชุมชนบำบัดยาเสพติด (CBTx) ซึ่งเป็นกระบวนการโดยใช้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน โดยมีชุมชนต้นแบบของ ตำบลมะนังยง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ตั้งเป้าอย่างน้อย จังหวัดละ 1 ตำบล ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และขยายให้ครบ 288 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในโอกาสต่อไป ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้กรอบข้อกำหนดของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า