รองนายก “สมศักดิ์” ลงใต้ ติดตามสถานการณ์น้ำ ย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังสถานการณ์ 24 ชม.

117

          เมื่อวันนี้ (28 ธ.ค. 66) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมตรี เป็นประธานการประชุมศูนย์บริการจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ โดยรับฟังบรรยายสรุปภาพรวมสถานการณ์น้ำและพื้นที่ประสบอุทกภัย ณ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จังหวัดยะลา มี พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศอ.บต. ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

          ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานราชการดำเนินงานตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 อย่างเคร่งครัด พร้อมรายงานผลให้ สทนช. รับทราบอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ โดยกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อแจ้งเตือนและพร้อมช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ๆ ได้รับผลกระทบ เนื่องจากจะมีฝนตกลงมาเพิ่มในช่วง 1-2 วันนี้ (28 – 29 ธ.ค. 66) ประกอบกับปริมาณน้ำท่วมขังเดิมและน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากนี้ฝนจะมีแนวโน้มลดลงในช่วงวันที่ 1- 8 มกราคม 2567 และหากไม่มีน้ำทะเลหนุน ก็จะทำให้การเร่งระบายน้ำ เป็นไปด้วยความรวดเร็ว อันจะทำให้พื้นที่ประสบอุทกภัยกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว สำหรับจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ในช่วง 1-2 วันนี้ (28-29 ธ.ค. 66) โดยเฉพาะ จ.นราธิวาส ยังคงต้องระวังปริมาณน้ำฝนในเขตพื้นที่ต้นน้ำสุคีรินและอำเภอแว้ง ส่วน จ.ยะลา อาจมีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง พื้นที่เหนือเขื่อนบางลางและพื้นที่ตอนล่างในเขตอำเภอเมืองยะลา กรงปินัง บันนังสตา และใน จ.ปัตตานี ยังคงมีฝนบริเวณชายฝั่ง ทั้งนี้หลังจากปีใหม่ 2567 สถานการณ์ฝนในพื้นที่จะเริ่มคลี่คลายลง”

          ในการนี้ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยต่อสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลของพายุ “เจอราวัต” และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ตลอดจนหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณทะเลอันดามันตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนัก โดยได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที พร้อมทั้งทําการฟื้นฟู เยียวยาและเร่งแก้ไขปัญหาในจุดต่างๆ ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็ว โดยได้มอบหมายให้ สทนช. บูรณาการร่วมกับกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมให้ศอ.บต.   และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมทั้งให้กรมประชาสัมพันธ์ ศอ.บต. และจังหวัด ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและเร่งสร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ตามช่องทางต่างๆ โดยให้มีการสื่อสารข้อมูลเป็นภาษายาวีด้วย นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้ ศอ.บต. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และจังหวัด เร่งช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้เร็วที่สุด ตลอดจนฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว

          สำหรับพื้นที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย จ.สตูล 1 อำเภอ จ.สงขลา 2 อำเภอ จ.ปัตตานี 4 อำเภอ จ.ยะลา 6 อำเภอ และ จ.นราธิวาส 11 อำเภอ ด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดกำลังพลให้ความช่วยเหลือในพื้นที่อุทกภัย พร้อมด้วยเครื่องจักรกลสาธารณภัย เครื่องสูบน้ำ เรือท้องแบนรถเครื่องย้ายผู้ประสบอุทกภัย เสื้อชูชีพ รถประกอบอาหาร และรถผลิตน้ำดื่ม  ในขณะที่กระทรวงกลาโหม ได้จัดกำลังพลชุดบรรเทาสาธารณภัยให้การให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย รวมทั้งกรมประชาสัมพันธ์ ได้ประชาสัมพันธ์สถานการณ์ฝนตกหนัก พร้อมแจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและเตรียมขนของขึ้นที่สูงแล้ว ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างเพียงแห่งเดียว

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า