พิธีลงนามรับรองฮูกุมปากัต ฉบับแปลภาษายาวีและมอบฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี) สร้างหมู่บ้านสันติสุข สร้างอนาคตที่ดีให้ลูกหลานอย่างมั่นคง ยั่งยืน

107

          วันที่ 11 กันยายน 2566 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมซัยค์ดาวูด อัลฟาตอนี สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ศูนย์สันติวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จัดพิธีลงนามรับรองฮูกุมปากัต ฉบับแปลภาษายาวีและมอบฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี) สร้างหมู่บ้านสันติสุข สร้างอนาคตที่ดีให้ลูกหลานอย่างมั่นคง ยั่งยืน เพื่อรับรองความถูกต้องก่อนจะส่งต่อไปสู่ชุมชน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป  นำโดย ดร.วิสุทธิ์  บิลล่าเต๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรีประจำภาคใต้, นายมูฮัมมัดซูวารี  สาแล นายกสมาคมสถาบันการศึกษาปอเนาะ 5 จังหวัด, นายแวดือราแม  มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี/ประธานสมาพันธ์กรรมการการอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้, นายอับดุลมูไฮมีน  สาและ ประธานมูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะกรรมการ ร่วมลงนามและส่งมอบให้กับคณะกรรมการประจำมัสยิดแต่ละพื้นที่ โดยมี พลตรี กรกฎ  ภู่โชติ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ผู้แทนจากส่วนราชการร่วมเป็นเกียรติในพิธี

          ดร.วิสุทธิ์  บิลล่าเต๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรีประจำภาคใต้ กล่าวว่า การลงนามในวันนี้ในฐานะที่เราเป็นผู้นำศาสนา ที่อยู่ในพื้นที่และเป็นองค์กรหลักที่พี่น้องประชาชนให้ความศรัทธาและเคารพ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลงนามในครั้งนี้ อยากให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือและความสามัคคีของคนในชุมชน ประการสำคัญทางภาครัฐจะต้องให้การสนับสนุน อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน สิ่งสำคัญผู้นำในพื้นที่ผู้นำชุมชนผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนา จะต้องให้ความร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่รัฐ และอยากให้ร่วมกันทำความเข้าใจกับธรรมนูญหมู่บ้านหรือฮูกุมปากัตที่ทุกภาคส่วนได้พยายามผลักดันและขับเคลื่อนเพื่อนำสันติสุขกลับคืนสู่พื้นที่ ขณะเดียวกันเชื่อว่าหลังจากนี้เมื่อมีธรรมนูญหมู่บ้าน โดยเฉพาะเป็นฉบับแปลภาษายาวีทุกคนจะนำไปสร้างความเข้าใจและขับเคลื่อนไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อนำสันติสุขสู่พื้นที่อย่างยั่งยืน

          สำหรับการร่าง ฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน)ได้เชิญ ผู้ทรงคุณวุฒิผู้รู้ทางศาสนา (อูลามะอฺ) ในพื้นที่ ร่วมกันลงความเห็นชอบและวินิจฉัย เพื่อให้ธรรมนูญหมู่บ้านที่ได้ร่วมกันร่างสอดคล้อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยไม่ขัดต่อหลักศาสนา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการขับเคลื่อนฟื้นฟูสังคมพหุวัฒนธรรมให้เข้มแข็ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีผลอย่างยิ่งต่อการช่วยส่งเสริมพัฒนาและสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า