พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา การส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืน

131

          วันนี้ 12 กรกฎาคม 2566 ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อ.เมือง จ.ยะลา พล.อ.ดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ องคมนตรี ได้เดินทางลงพื้นที่ ประชุมตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการ / ขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาท้องถิ่น ระดับ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และผลการส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืนโดยมี นายสุพจน์  รอดเรือง ณ หนองคาย ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา รองศาสตราจารย์ ดร.ช่วงโชติ  พันธุเวช นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริชัย  นามบุรี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พลตรี กรกฎ  ภู่โชติ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า คณะบดี และคณาจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ร่วมให้การต้อนรับ

          ในช่วงบ่าย พล.อ.ดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ องคมนตรี ได้ประชุมติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนา Soft Skills ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม การนำผลงานของนักศึกษา กลุ่มที่ 1 “การผจญภัยบ้านบางเขา” และ“การผจญภัยบ้านกายอง” ในกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน นำวัตถุดิบที่มีในชุมชน เข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ วางจำหน่าย พร้อมทั้งการสื่อสารผ่านทางสื่อโซเชียล สร้างรายได้ให้กับชุมชน จากนั้นได้เดินทางไปยังอาคารกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พบปะผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และได้เยี่ยมชมการจัดนิทรรศการโครงการพัฒนาท้องถิ่น บริเวณลานชั้น 1 หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา  5 ธันวาคม 2550 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยมีการจัดแสดงนิทรรศการ ตามพระบรมราโชบาย 28 ด้าน มีโครงการเด่นยุทธศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย  ด้านเศรษฐกิจ โครงการพัฒนายกระดับมาตราฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) หมู่บ้านชาวประมงพื้นบ้าน ต.บางตาวา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี กลุ่มเป้าหมาย วิสาหกิจชุมชนปลาแห้งท่ายาลอ กลุ่มแม่บ้านศรีบารู และ วิสหากิจชุมชนแปรรูปอาหารทะเลปากบางตาวา ในการผลิตปลากุเลาเค็ม โครงการการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งชันโรงเพื่อการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ที่ ต.อาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา ด้านสังคม โครงการยกระดับรายได้ให้คนในชุมชนฐานรากเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยใช้นวัตกรรมเกษตรแบบผสมผสาน (JAPO Model) พื้นที่เป้าหมายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส  เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบประจำตำบล ลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ในครัวเรือน ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้านสังคม โครงการผลักดันป่าฮาลา-บาลา เป็นมรดกอาเซียนข้ามแดนสู่มรดกโลก พื้นที่เป้าหมาย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ด้านการศึกษา โครงการคลังข้อสอบออนไลน์เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยการนำระบบสารสนเทศ หนุนเสริมในการจัดโครงการต่าง ๆ ทางการศึกษา เช่น โครงการยกระดับการเรียนรู้โรงเรียนขนาดเล็ก โดยการทำระบบพัฒนาระบบคลังข้อสอบออนไลน์เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้คะแนนการสอบโอเน็ต ในปี 2565 มีคะแนนเฉลี่ยที่ดีขึ้น ระบบคลังข้อสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษ TOEIC หนุนเสริมกิจกรรม PRE TEST และ POST TEST ในการติวความรู้ภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษา ส่งผลให้มีจำนวนนักศึกษาที่สอบผ่านในระดับ B1 ในจำนวนที่เพิ่มขึ้น

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า