แม่ทัพภาคที่ 4 เผยแนวทางปรับลดกำลังทหาร 3 จชต.

368

          สถานการณ์ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านมาแล้ว กว่า 19 ปี เกิดจากการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรงในรูปแบบต่างๆส่งผลกระทบต่อชีวิต เศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง จากปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจึงได้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่ เข้าระงับยับยั้งและคลี่คลายสถานการณ์เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งนี้ในช่วงแรกของสถานการณ์ตั้งแต่ปี 2547 – 2553 มุ่งเน้นใช้กำลังทหารเป็นกำลังหลักรวมทั้งได้เพิ่มเติมกำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 1 – 3เข้าควบคุมสถานการณ์และยุติสภาพปัญหา โดยได้จัดชุดพัฒนาสันติเข้าปฏิบัติงานในหมู่บ้านที่ตรวจพบการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรง 217 หมู่บ้านมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้าใจ ปรับทุกข์ผูกมิตรและช่วยเหลือประชาชนในรูปแบบต่างๆจนสามารถสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ส่งผลให้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงและมีแนวโน้มพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นโดยลำดับ

          จนกระทั่งเข้าสู่ระยะที่2ของการแก้ปัญหาตั้งแต่ปี 2554 – ปัจจุบัน โดยได้มุ่งเน้นเสริมสร้างประสิทธิภาพให้กำลังฝ่ายพลเรือนและกำลังตำรวจ ด้วยการเพิ่มอัตรากำลังตำรวจ 1,700 นาย จัดตั้งเป็นหมวดปฏิบัติการพิเศษ ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในเขตพื้นที่เมืองทั้ง37อำเภอและการเพิ่มอัตรากำลังสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนกว่า7,000นายจัดตั้งเป็นชุดคุ้มครองตำบล 164 ชุด ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในหมู่บ้าน/ชุมชนโดยปฏิบัติงานร่วมกับกำลังภาคประชาชน ภายใต้แผนเพิ่มประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครประจำพื้นที่เพื่อช่วยดูแลพื้นที่แทนกำลังทหารที่ได้ทยอยถอนกำลังกลับที่ตั้งปกติโดยเฉพาะทหารจากกองทัพภาคที่1-3ได้ถอนกำลังกลับทั้งหมดตั้งแต่ปี 2559  – 2560 รวมทั้งได้ทยอยปรับลดอัตรากำลังจากหน่วยต่างๆในโครงสร้างของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในทุกๆปี ส่งผลให้สามารถปรับลดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ลงได้แล้ว กว่า 20,000 นาย คงเหลืออัตรากำลังทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ในปัจจุบัน 49,995 อัตรา

          นอกจากนี้ยังได้เตรียมแผนการปรับลดอัตรากำลังให้สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นความมั่นคงและแผนปฏิบัติการด้านการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ระยะที่2ตั้งแต่ปี 2566 – 2570 ด้วยการทยอยปรับลดกำลังทหารพรานจากกองทัพภาคที่1 – 3 กลับที่ตั้งปกติทั้งหมดควบคู่ไปกับการปรับลดพื้นที่ประกาศใช้พรก.ฉุกเฉินให้หมดสิ้นไปภายในปี 2570 สำหรับกำลังของกองทัพภาคที่4และกำลังในส่วนอื่นๆก็จะทยอยปรับลดหรือปรับเปลี่ยนภารกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ตามห้วงระยะเวลา ทั้งนี้ หากสถานการณ์พัฒนาเข้าสู่สภาวะปกติ เกิดความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สามารถส่งผ่านการแก้ปัญหาไปสู่ระยะสุดท้าย”การเสริมสร้างสันติสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน”ได้  ความจำเป็นในการใช้กำลังทหารก็จะค่อยๆหมดสิ้นไปในที่สุด

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า