คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข พบปะ สื่อมวลชนชายแดนภาคใต้

224

วันนี้ (20 เมษายน 2566) เวลา 10.15 น. ที่ห้องจะบังติกอ โรงแรมซีเอสปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี พลเอก วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย พลตรี ปราโมทย์  พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และคณะพูดคุยสันติสุขฯ ลงพื้นที่ พบปะสื่อมวลชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสื่อสาร แลกเปลี่ยน สร้างการรับรู้ ความเข้าใจในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะความคืบหน้าของการพูดคุยเพื่อสันติสุขในปัจจุบัน พร้อมชี้แจง รายละเอียดร่างแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ JCPP เพื่อให้สื่อมวลชนได้ช่วยขยายผลกระบวนการพูดคุยตลอดช่วยสร้างความเข้าใจแก่สาธารณะในฐานะตัวแทนของประชาชนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

           พลเอก วัลลภ  รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต. ได้กล่าวว่า การลงมาพบปะกับสื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ เป็นการมาสื่อสาร สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความคืบหน้าของการพดคุยดำเนินการพูดคุยในห้วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะ การจัดทำร่างแผน JCPP อีกทั้งเป็นการมาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ร่วมกันเพราะสื่อมวลชนถือเป็นกลไกหลักสำคัญในการหนุนเสริมกระบวนการพูดคุยในพื้นที่ โดยวันนี้คณะพูดคุยฯ ได้รับข้อเสนอแนะจากสื่อมวลชน ที่มีประโยชน์อย่างมาก ทั้งเรื่องการสื่อสารกับประชาชน  การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนตามกรอบ JCPP การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐกับสื่อ หรือ แม้แต่เรื่องการลดความรุนแรง ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นต่อการพูดคุย ข้อเสนอแนะเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นประโยชน์ ที่คณะพูดคุยก็จะนำไปปรับ เสริม เพิ่มเติมกระบวนการพูดคุยให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งนี้คณะพูดคุยฯ ยังคงมุ่งมั่นและยืนยันเจตนารมณ์ในการเดินหน้าการพูดคุยฯ อย่างต่อเนื่องตามนโยบายของรัฐบาล และขอเชิญชวนประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสันติสุขที่ยั่งยืนให้แก่ประชาชนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

            ด้าน พลตรี ปราโมทย์  พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้กล่าวย้ำ เรื่องของการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ ระหว่างที่มีการพูดคุยนั้น ว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นหน่วยงานของรัฐจะดำเนินการภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ ซึ่งจะยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ แต่จะลดหย่อนตามสถานกาณ์ในแต่ละครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเดือนรอมฏอนแม้มีการก่อเหตุความรุนแรงหลายครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ได้ใช้ความอดทนอดกลั้น เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในการประกอบศาสนกิจ รวมทั้งการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกื้อกูลและหนุนเสริมกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ส่วนแนวทางในการลดความรุนแรงอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดเพื่อหารือร่วมกันต่อไป

         ทั้งนี้ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ได้ชี้แจงความคืบหน้าของการพูดคุยตลอดห้วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการจัดทำรายละเอียดของ ร่างแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) ที่ต้องยึดประเด็น 3 รัตถะสำคัญ นั่นคือ การลดความรุนแรง โดยจะต้องมีการกำหนดกิจกรรม กรอบระยะเวลา และพื้นที่ดำเนินการ ตลอดจนกลไกการติดตามสถานการณ์ อย่างชัดเจน สารัตถะข้อต่อมาคือ การปรึกษาหารือในพื้นที่ ในร่างรายละเอียดเอกสาร JCPP จะรวมเอาการแสวงหาทางออกทางการเมืองเข้ามารวมเป็นเรื่องเดียวกัน โดยจะใช้การเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญครอบคลุม 5 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย

  1. การยอมรับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของชุมชนปาตานี
  2. เรื่องสิทธิมนุษยชน กระบวนการยุติธรรมและกระบวนการทางกฎหมาย
  3. เรื่องการศึกษา
  4. เศรษฐกิจและการพัฒนา
  5. รูปแบบการบริหารพื้นที่

           อย่างไรก็ตาม คณะทำงานทางเทคนิคของแต่ละฝ่ายจะได้จัดการหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันอย่างไม่เป็นทางการภายในมิถุนายน 2566 และนำเสนอต่อการพูดคุยแบบเต็มคณะเพื่อพิจารณาตกลงใจร่วมกัน ในการเริ่มต้นขั้นตอนการปฏิบัติตามกรอบเวลา เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ JCPP และนำไปสู่การปฏิบัติตั้งแต่กรกฎาคม 2566 – ธันวาคม 2567 ซึ่งหากทั้งสองฝ่าย และประชาชนในพื้นที่เห็นด้วย คาดว่าจะสามารถบรรลุฉันทามติในการยุติความขัดแย้งและนำข้อสรุปที่ได้จากกระบวนการดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาและนำสันติสุขที่ถาวรสู่พื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป

ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า