มทภ.4 ประสานความร่วมมือร่วม องค์การสหประชาชาติและสภาความมั่นคงแห่งชาติ แก้ปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด จังหวัดชายแดนภาคใต้

1063

     วันนี้ 18 พฤศจิกายน 2563 เวลา  16.00 น. ที่ห้องประชุม ( 1 ) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พลโทเกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ให้การต้อนรับ นางกีต้า ซับบระวาล (Mrs. Gita Sabharwal, UN Resident Coordinator in Thailand) ผู้แทนเลขาธิการสหประชาชาติประจำประเทศไทย พร้อมด้วยผู้แทนสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และผู้แทนสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในโอกาสเดินทางมาเยือนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อติดตามการดำเนินงานและประเมินผลกิจกรรมการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย และร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงาน ด้านการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด และปัญหาภัยความมั่นคงอื่น ๆ กับกองอำนวยรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า โดยมี พลตรี ปิยพงษ์ วงศ์จันทร์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า คณะผู้บังคับบัญชา และส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับพบปะพูดคุย รวมถึง ได้หารือ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จะได้นำข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นมาพิจารณา และใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป

 

     โดย พลโทเกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวว่า “วันนี้รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ผู้แทนเลขาธิการ สหประชาชาติประจำประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานป้องกันยาเสพติด และปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติแห่งสหประชาชาติ (UNODC)  และผู้แทนสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ได้เดินทางมาพบปะร่วมหารือในวันนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้รับทราบการดำเนินงานของกองอำนวยรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ในด้านการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด และปัญหาภัยความมั่นคงอื่น ๆ ซึ่งนับเป็นปัญหาด้านอาชญากรรมข้ามชาติ แต่สำหรับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ในช่วงปีที่ผ่านมาภาพรวมมีสถิติลดลงเนื่องจากมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส covid-19 ทำให้การเดินทางผ่านช่องทางเข้าออกแนวชายแดนประเทศไทยมาเลเซียทำได้ยากขึ้นเพราะมีกำลังเจ้าหน้าที่ชุดป้องกันชายแดน ทั้งฝั่งไทยและมาเลเซีย บูรณาการร่วมกับส่วนที่เกี่ยวข้องคุมเข้มพื้นที่เข้าออกตลอดแนวชายแดนทุกช่องทาง ถือเป็นการจำกัดเสรีในการปฏิบัติของอาชญากร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัญหายาเสพติดหรือเครือข่ายแรงงานต่างด้าว สินค้าผิดกฎหมายแม้กระทั่งกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ ส่วนด้านสถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เจ้าหน้าที่กำลังทั้ง 3 ฝ่าย ได้มีการบูรณาการร่วม จับกุมผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เครือข่ายของขบวนการค้ายาเสพติดลดลง เนื่องจากนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ ที่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด มาเป็นกลไกหลักในการดำเนินการ สร้างเครือข่ายพลังภาคประชาชนเพื่อให้เป็นพลังมวลชนภาครัฐ ในการร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง ขับเคลื่อนกิจกรรมผ่านสภาสันติสุขตำบล ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตลอดจนกระบวนการบำบัดฟื้นฟู และการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น สถิติการกลับมาของผู้ค้าและเสพจึงลดลงโดยลำดับ”

     ทั้งนี้ นางกีต้า ซับบระวาล ผู้แทนเลขาธิการ สหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ตลอดจนผู้แทนสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และคณะได้ชื่นชมการดำเนินงานในด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จากข้อมูลการปฏิบัติงานในห้วงที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานตามนโยบายการแก้ไขปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ปัญหายาเสพติดภายในพื้นที่ลดลง อันเกิดจากความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ ความเข้มแข็งของชุมชน จากนี้ไปทางคณะ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จะได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการประสานงาน เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ รวมไปถึงการบริหารจัดการชายแดน เพื่อรับมือภัยคุกคามข้ามชาติ อันจะนำไปสู่การบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า